วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รีวิวส้อมไททาเนียม snow peak titanium spork

เป็น backpacker ก็ต้องมีอุปกรณ์ช้อนส้อมติดเป้ด้วย จะจิ้มจะตักได้ครบก็ต้องพกทั้งช้อนและส้อม แต่ทั้งนี้น้ำหนักสแตนเลสไม่ใช่น้อย และถ้าเราต้องการอะไรที่มันง่ายๆไม่อยากพกสองอย่างให้ยุ่งยาก ช้อนที่รวมส้อมไว้ด้วยกันก็ดูเป็นทางเลือก ก่อนหน้าผมเคยใช้เป็นพวกช้อนพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ แต่ความรู้สึกมันไม่ใช่ ตักข้าวก็ไม่ถนัดจิ้มอะไรก็ลำบาก จนได้มารู้จักเจ้าส้อม snow peak นี่แหละครับ

ส้อม Snow Peak ทำจากไททาเนียมมีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง เดิมมีสีไททาเนียมสีเดียว แต่รุ่นหลังๆมีให้เลือกเพิ่มอีกสามสี เขียว ฟ้า ม่วง ของผมเป็นสีม่วงเพราะร้านที่ซื้อเขาเหลืออยู่สีเดียว แต่กระนั้นเราแค่เน้นฟังก์ชั่น ซึ่งซื้อมาแล้วก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ผมว่าเขาออกแบบมาได้ดีมากเลย ความลึกของช้อนที่พอดีและส้อมที่คมใช้งานได้อย่างจริงจัง แต่ข้อเสียของสินค้าคุณภาพดีส่วนใหญ่คือราคา :) ผมซื้อต่างประเทศ 9 USD หรือประมาณ 280 บาท บ้านเราเห็นมีขายอันละเกือบ 500 บาท แพงมาก!!

Snow Peak เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เน้นขายอุปกรณ์เครื่องครัวน้ำหนักเบาสำหรับ Backpacker สินค้าประเภทเครื่องครัวทั้งหมด made in japan มีหม้อ ช้อน ส้อม ถ้วยน้ำ วัสดุมีไททาเนียม สแตนเลส และอลูมิเนียม โดยเฉพาะผลิตภันฑ์ไททาเนียมจะมีชื่อเสียงมากได้รับรางวัลมากมาย

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

รองเท้าเดินป่า

รองเท้าเป็นสิ่งสำคัญมาก อยู่ในป่าในเขาถ้าเท้าเกิดบาดเจ็บขึ้นมาเป็นหมดสนุกแน่ๆ หลายคนบอกว่าเท้าคือชีวิตกันเลยทีเดียว รองเท้าเดินป่าจึงต้องทนทานใส่สบายและปกป้องเท้าเราได้ดี ในบทความนี้จะนำเสนอข้อมูลของรองเท้าเดินป่าเพื่อผู้สนใจและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกซื้อรองเท้าที่เหมาะสมต่อไปครับ รองเท้าที่ภาษาอังกฤษว่า Backpacking, trekking หรือ hiking boots ในบทความนี้ขอเรียกรวมเป็นรองเท้าเดินป่านะครับ

ประเภทรองเท้าเดินป่าแบ่งตามการใช้งาน


  • ชนิดเบา  (Lightweight hiking boot)


ออกแบบมาสำหรับการเดินแบบทริปสั้นๆ ที่ไม่มีสัมภาระหนัก รองเท้าประเภทนี้มีทั้งแบบข้อเตี้ย(Low-Cut) และหุ้มข้อ(Mid-Cut) ลักษณะจะคล้ายๆรองเท้ากีฬาทั่วไปแต่พื้นจะแข็งและมีความทนทานกว่า ข้อดีของรองเท้าแบบนี้คือเบา มีความคล่องตัว ระบายอากาศดี แต่ถ้าคุณต้องแบกเป้หนักเทรคกิ้งไกลในภูมิประเทศโหด รองเท้าแบบนี้จะไม่เหมาะ เพราะ support ข้อเท้าได้น้อย และความทนทานจะน้อยกว่ารองเท้าเดินป่าประเภทอื่น


  • รองเท้าแบ็คแพ็คกิ้ง Backpacking boot หรือ Mid-weight hiking boot


รองเท้าแบบนี้ออกแบบมา เพื่อรองรับน้ำหนักสัมภาระด้วย จะเป็นแบบหุ้มข้อ Mid-cut หรือ High-cut เพื่อกระจายโหลดและปกป้องข้อเท้า พื้นแข็งหนา มีความทนทานกว่าแบบชนิดเบา ถ้าต้องเดินไกลและแบกสัมภาระสัก 8 kg หรือมากกว่านั้น ผมแนะนำรองเท้าชนิดนี้ครับ

  • รองเท้าบูทปีนเขา (Mountaineering Boots)


ใช้สำหรับปีนภูเขาสูง>3000m หรือพื้นที่หนาวเย็นจัดๆ (บ้านเราไม่ต้องใช้ชนิดนี้แน่นอน) มีทั้งแบบที่ทำไว้ปีนภูเขาน้ำแข็งโดยเฉพาะ หรือหน้าตาแบบ Backpacking ที่เพิ่มวัสดุป้องกันเท้า รองเท้าประเภทนี้จะเป็นแบบหุ้มข้อสูง (High-cut) ทั้งหมด ออกแบบมาไว้เพื่อเดินลุย off-trail โดยแท้ สามารถรับน้ำหนักได้มากและมีความมั่นคงทนทานมากกว่าทุกแบบ ภายในบุกันหนาวหรือ Insulation และรองรับ crampon สำหรับเดินบนน้ำแข็งด้วย


ความสูงของรองเท้า

 

  • ข้อเตี้ย low cut

รองเท้าวิ่งหรือรองเท้าเดินป่า light weight จะใช้แบบนี้เป็นส่วนใหญ่เพราะเบา ถอดเข้าออกง่าย สามารถเคลื่อนไหวเท้าได้อิสระมากกว่าแบบอื่น แต่ทั้งนี้ถ้าเราแบกน้ำหนักมากอาจเกิดข้อเท้าพลิกบาดเจ็บได้ง่ายเช่นกัน รองเท้าแบบนี้เหมาะกับคนที่เดินท่องเที่ยวทั่วๆไปในเมือง หรือแบกเป้ day pack เดินป่าเส้นทางง่าย ระยะสั้นๆ

  • หุ้มข้อ Mid cut

ส่วนบนจะหุ้มข้อเท้าโดยรอบไว้พอดี เหมาะกับการเดินป่าที่แบกน้ำหนักกลางๆเดินหลายวัน เดินป่าบ้านเราถ้าแบกสัมภาระเองใช้รองเท้าแบบ mid cut ก็ดีครับ

  • หุ้มข้อสูง High cut

เพิ่มสมดุลและซัพพอร์ตข้อเท้ามากกว่าทุกแบบ เหมาะกับ คนที่แบกเป้น้ำหนัก > 18 กิโลกรัม เดินระยะทางไกลเป็นประจำหรือเดินเส้นทางแบบ off-trail รองเท้าคอมแบททหารก็จะเป็นทรงนี้

 

วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าเดินป่า

 

  • หนัง full grain

เป็นวัสดุที่สวยงามและทนทานมากที่สุด กันน้ำได้ดี แต่มีน้ำหนักมากและระบายอากาศได้ไม่ดีนัก หนัง full grain นิยมใช้ทำรองเท้า backpacking ราคาแพง หรือรองเท้า mountaineering

  • หนัง Nubuck

บ้านเราเรียกหนังกลับ เป็นหนังคุณภาพรองจาก full grain ผ่านกรรมวิธีขัดผิวด้านนอกคล้ายกับหนังนิ่มหรือ suede (แต่ suede จะขัดผิวด้านใน) หนัง nubuck มีความทนทานสูงแต่มีราคาแพงน้อยกว่า full grain

  • วัสดุใยสังเคราะห์

วัสดุชนิดนี้แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิดตามคุณภาพของเส้นใย ซึ่งคุณสมบัติโดยทั่วไปๆจะมีความเบา แห้งเร็ว ระบายอากาศดี แต่การกันน้ำและความทนทานจะต่ำกว่าวัสดุที่เป็นหนัง รองเท้าเดินป่าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแบบ light weight จะนิยมใช้วัสดุใยสังเคราะห์ผสมกับหนัง nu buck เพื่อให้รองเท้าทนทานมากขึ้น

  • วัสดุกันน้ำ

เช่น Gore-Tex, Event จะบุภายในรองเท้าเพื่อกันน้ำเมื่อต้องลุยหิมะหรือลำธาร รองเท้าที่ใช้เดินในพื้นที่หิมะถ้าไม่ใช่บูทยางมีความจำเป็นต้องบุชั้นกันน้ำด้านใน รองเท้าที่บุกันน้ำความเห็นส่วนตัว ผมว่าช่วยให้เดินสะดวกขึ้นมากแม้ไม่ใช่พื้นที่หนาวเย็น อย่างการเดินป่าหน้าฝนในบ้านเราจะต้องเดินลุยน้ำหรือโคลนระดับประมาณไม่เกินข้อเท้าเป็นส่วนมาก มีบางเส้นทางที่ต้องเดินลุยน้ำถึงหน้าแข้งหรือสูงกว่านั้น(ซึ่งมีไม่บ่อยนัก) ผมจะถอดแล้วใช้รองเท้าแตะที่เตรียมมาเดินลุยน้ำแทน บางคนอาจบอกว่าถ้างั้นรองเท้ากันน้ำไม่มีความจำเป็น อันนี้ก็แล้วแต่สภาพเส้นทางและสไตล์ของแต่ละคนครับ



พื้นรองเท้า Soles


  • Insole

หรือ foot bed เป็นพื้นด้านในที่สัมผัสกับเท้า ทำจากโฟมนุ่มสามารถถอดออกได้ insole ที่ติดมากับรองเท้าถ้าเราไม่ชอบหรือขาดเปื่อย สามารถซื้อยี่ห้ออื่นมาใส่เปลี่ยนเองได้

  • Midsole

เป็นส่วนที่ซับแรงกระแทก วัสดุมีสองแบบหลักคือ Ethyl Vinyl Acetate (EVA)และ Polyurethane (PU) อย่างแรกคือ EVA เป็นวัสดุประเภทเดียวกับที่ทำรองเท้าวิ่ง จะนิ่มและเบานิยมใช้กับรองเท้าเดินป่าประเภท light weight  ซึ่งจะมีอายุการใช้งานประมาณหกเดือนถ้าใช้งานหนักตลอด ส่วน PU จะมีความหนาแน่นและทนทานมากกว่า นิยมใช้กับรองเท้า backpacking, mountaineering

  • Outsole

เป็นยางด้านนอกที่จะสัมผัสกับพื้น Outsole ของรองเท้าเดินป่าจะมีความแข็งกว่ารองเท้าวิ่งทั่วไป  รองเท้าเดินป่าหลายยี่ห้อเช่น The North Face, Asolo, Zamberlan ฯลฯ ใช้วัสดุจากบริษัท Vibram ที่ผลิตพื้นยางโดยเฉพาะ หรือยี่ห้อ keen ใช้เทคโนโลยีของตัวเอง โดยใช้คาร์บอนผสมทำให้พื้นรองเท้าแข็งแรงมาก ลายดอกยางจะแตกต่างกันไปตามประเภทรองเท้า ดอกยางรองเท้า mountaineering จะมีความลึกเพื่อเพิ่มการยึดเกาะบนผิวทางที่ไม่สม่ำเสมอ ส่วนดอกยางตื้นจะใช้กับรองเท้า trail-running หรือ light weight hiking ที่ต้องการความยืดหยุ่นมากกว่า

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

10 เหตุผลที่ควรใช้ไม้เท้าเดินป่า


การใช้ไม้เท้าเดินป่าหรือ Trekking Poles บางคนว่าไม่จำเป็น แต่ผมว่ามีไว้ก็ดี เพราะมันช่วยถนอมเข่าของเรา และสำหรับผู้ที่แบกสัมภาระหนักๆหรือเข่าไม่ค่อยดี ผมว่ามันจำเป็นเลยแหละ เหตุผลอื่นๆอีก เช่น 10 เหตุผล ที่ควรใช้ไม้เท้าเดินป่า นี้ผมแปลมาจาก outdoorgearlab  ทั้งสิบมีดังนี้ครับ

1. ไม้เท้าเดินป่าใช้หลักการเดียวกับไม้สกี เป็นการใช้กำลังแขนช่วยเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ทั้งในทางราบและขึ้นเขา ทำให้เพิ่มความเร็วโดยเฉลี่ย

2. ลดแรงกระแทกบริเวณขา เข่า ข้อเท้าและเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลงเขา การศึกษาในปี 1999 The Journal of Sports Medicine พบว่า ไม้เท้าเดินป่าช่วยลดแรงที่กระแทกที่เข่าได้มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์

3. ไม้เท้าเดินป่าสามารถใช้เบี่ยง หรือปัด สิ่งที่เรารำคาญหรือกีดขวาง เช่นพืชมีหนาม หรือปัดใยแมงมุมในระหว่างทางเดิน  ให้เราเดินสบายขึ้น

4. การเดินโดยใช้ไม้เท้าเดินป่าช่วยให้เราสร้างและรักษาจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็ว โดยเฉพาะการเดินในพื้นที่ราบเรียบ ไม่มีการปีนป่าย

5. จุดสัมผัสสองจุดที่เพิ่มเข้ามา จะช่วยเพิ่มการยึดเกาะบนพื้นที่ลื่น เช่น โคลน หิมะ หรือเศษหินร่วนๆ

6. ไม้เท้าเดินป่าช่วยเรารักษา balance ทรงตัวในพื้นที่ที่มีอุปสรรค อย่างเช่นการข้ามน้ำ ที่มีรากไม้พาด หรือ สะพานลื่นๆ  การมี balance ช่วยให้เราก้าวไปได้ง่ายและรวดเร็ว

7. ไม้เท้าเดินป่าสามารถใช้หยั่งข้อมูล ที่เราไม่รู้จากการมองด้วยตา ใช้ไม้เท้าเพื่อรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอ่งน้ำ โคลน หิมะ หรือทรายดูด (ความลึก ความแข็ง สิ่งกีดขวางในน้ำ ฯลฯ)

8.ไม้เท้าเดินป่า สามารถใช้ป้องกันตัวจากการโจมตีของสุนัข หมี หรือสัตว์ป่าอื่นๆ โดยเหวี่ยงไม้เท้าไปรอบๆเหนือหัว เพื่อให้เราดูตัวใหญ่ขึ้น หรือใช้โยนแบบหอก

9. ไม้เท้าเดินป่าช่วยแบ่งเบาภาระน้ำหนักที่เราแบก อย่างเช่น ถ้าเราแบกน้ำหนักมากๆ และเราต้องการพักสั้นๆ การพิงไปที่ไม้เท้าจะช่วยให้สบายขึ้น

10. ไม้เท้าเดินป่าสามารถใช้เป็นอะไรที่มากไปกว่าการเป็นแค่ไม้เท้า ช่วยลดน้ำหนักในการแบกเสาเต้นท์ (สำหรับอุปกรณ์ที่พักเช่น Tarp หรือเต้นท์แบบใช้ไม้เท้าแทนเสาเต้นท์ เมืองไทยยังไม่ค่อยเห็นมีขาย) ที่พักแบบนี้ช่วย save น้ำหนักได้เกือบ 1 กิโล (ไม่นับตัวไม้เท้าเอง) ไม้เท้าเดินป่ายังมีความแข็งแรงมากกว่าเสาเต้นท์ ดังนั้นยากที่จะหักเมื่อลมแรงๆ ทำให้ที่พักมีความปลอดภัยมากขึ้น  ไม้เท้าเดินป่ายังสามารถใช้เป็นเฝือกได้อีก


ข้อจำกัดของการใช้ไม้เท้าเดินป่าคือ ใช้พลังงานของร่างกายเพิ่มขึ้น (เราต้องใช้กำลังแขนเพิ่มขึ้นมา) มันสามารถเข้าไปขัดอยู่ในพุ่มไม้หรือติดกับซอกหิน มันลดฟังชั่นของมือเราในการจะไปทำอย่างอื่น มันไม่สามารถเก็บได้อย่างสะดวก และอาจมีผลต่อเส้นทางข้างหน้า (เก็บแล้วมันก็ยังยาว) นักปีนเขาบางคนบ่นเกี่ยวกับข้อศอกที่เจ็บจากการใช้ไม้เท้าเดินป่ามากเกินไป เช่นแบกน้ำหนักมากกว่า 30 กิโล ทุกวันในหนึ่งเดือนต่อครั้ง (เยอะไปไหม) อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้สามารถแบ่งเบาหรือถือเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างเช่น พลังงานที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นก็ชดเชยด้วยการที่เพิ่มความเร็วได้และลดแรงตึงเครียดที่ขา นักปีนเขาหลายคนชอบไม้เท้าเดินป่าแบบไม่มีสายคล้องมือมากกว่า เพราะสะดวกในการเปลี่ยนไม้เท้าข้างใดข้างหนึ่งมาอีกข้าง เพื่อใช้มือสำหรับหยิบอาหารกินหรือถ่ายรูป และสามารถปล่อยมันได้รวดเร็วเมื่อเสียหลัก หรือต้องการใช้มือทำอะไรบางอย่าง

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รีวิวที่กรองน้ำพกพา Sawyer PointOne Squeez Water Filtration System



น้ำดื่มเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่การเดินป่าข้ามวัน เราไม่สามารถหอบน้ำดื่มจำนวนมากไปด้วยได้ เพราะมันหนัก ;) ส่วนมากจะไปหาน้ำกันดาบหน้า พวกลำธาร น้ำตก ฯลฯ แล้วจึงมีวิธีทำให้น้ำสะอาดพอที่จะดื่ม ไม่ว่าจะใช้วิธีต้ม, ใช้ยาเม็ดฆ่าเชื้อ หรือใช้อุปกรณ์กรองน้ำแบบพกพา ซึ่งในบทความนี้ ผมจะมาแนะนำอุปกรณ์กรองน้ำพกพา ที่ผมเพิ่งได้มาสดๆร้อนๆ ชื่อว่า Sawyer PointOne Squeez Water Filtration System ที่กรองน้ำตัวนี้ได้รับรางวัล  Backpacker Editors' Choice 2012 ด้วย มันมีอะไรบ้าง เรามาดูกันครับ

Sawyer Squeeze สเปค

ไส้กรอง Hollow Fiber ขนาด 0.1 ไมครอน
กรองแบคทีเรีย 99.99999% กรองโปรโตซัว 99.9999%
อายุไส้กรอง 1 ล้านแกลลอน!!
น้ำหนัก  85 กรัม ถุงน้ำ + ไส้กรอง

ผมซื้อมาแบบแถมถุงน้ำ 1L (sp129)  ในกล่องประกอบด้วย Filter, ถุงน้ำ 1 L (sp131 แถมถุงน้ำสามขนาด 0.7L, 1L, 2L), Syringe สำหรับล้าง Filter, แผ่น Instructions 

Sawyer Squeeze Water Filtration System

Sawyer Squeeze ออกแบบมาใช้งานโดยอาศัยแรงบีบถุงใส่น้ำที่ต้องการกรอง ให้เกิดแรงดันทำให้น้ำไหลผ่านตัว Filter ออกมาเป็นน้ำสะอาดดื่มได้ โดยสโลแกนของมันคือ No pumping, No chemicals, No waiting, No worries ใครขี้เกียจออกแรงของที่กรองแบบปั๊ม หรือกลัวเคมีในยาเม็ดฆ่าเชื้อ Sawyer Squeeze เป็นตัวเลือกเลยครับ เขาทำให้เล็กแต่ประสิทธิภาพดี คือสะอาด และ flow rate สูง แม้ราคาผมถือว่าไม่ถูก แต่มันยังถูกกว่าแบบปั๊มและแบบ Gravity มากกว่าเท่าตัว และถ้าคิดอายุการใช้งานเข้าไปด้วย ฝรั่งเขาคิดแล้วว่าตัวนี้ถูกสุด คือแค่ 0.002 cents ผมแปลงเป็นไทยเอง ก็ประมาณ 0.0006 บาท ต่อน้ำ 1 ลิตรเท่านั้น

ส่วนประกอบ

ถุงที่แถมมารุ่นก่อนๆ จากที่ดูรีวิวคนอื่น มีเสียงบ่นมากมายว่า รั่วง่าย แต่ตัวนี้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ 2013 Sawyer ทำใหม่เป็นพลาสติกหนาหนักกว่าเดิม ดูไม่น่าจะแตกหรือรั่วได้ง่ายๆ  ตัว Filter ขนาดเต็มกำมือ มีจุกวาล์วน้ำออกสีขาวแบบดึงเข้าออก สำหรับปิดเปิด สามารถหมุนถอดออกได้ แถมมีจุกครอบพลาสติกใสปิดอีกทีด้วย (จุกใสนี้ น่ากลัวจะหายได้ง่าย)  อีกด้านเป็นทางน้ำเข้า เกลียวสามารถต่อเข้ากับขวดน้ำทั่วไปได้ด้วย

ทดสอบ

ลองใส่น้ำเข้าถุง 1L พบว่าในน้ำนิ่งมันเข้ายากกว่าที่คิด เพราะว่าถุงที่ลีบแบน แถมปากยังเล็ก ผมเลยต้องเป่าลมเข้าถุงก่อน จากนั้นจึงค่อยให้น้ำไหลเข้าแทนอากาศ พอน้ำเต็มถุงถึงค่อยต่อเข้ากับ Filter แล้วบีบ พบว่า Flow Rate หรืออัตราการไหลของน้ำรวดเร็วน่าพอใจ (ตัวเลขที่เขาทดสอบ อยู่ที่ 1.7 ลิตรต่อนาที เร็วน้อยกว่าแบบ Gravity ที่เร็วที่สุด เพียง 0.05 นาที) ทีนี้ผมลองใช้ขวดพลาสติกเล็กใส่น้ำ ต่อเข้าไปบ้าง จากนั้นคว่ำลง ง่ะ!! น้ำไม่ออก!! ต้องออกแรงบีบกันหน่อย แต่อย่างไรก็กรองได้นิดเดียวไม่เต็มความจุขวด เพราะขวดพลาสติกบีบได้ไม่มาก ไม่พอให้เกิดแรงดันเมื่อน้ำเหลือน้อย สำหรับน้ำที่ใช้ทดลอง ผมเอาน้ำขังในแอ่ง เป็นน้ำใส แต่มีตะไคร้น้ำ มีตะกอนและมีกลิ่นเล็กน้อย  กรองแล้วลองดื่ม โอ้พระเจ้า รสชาติดี กลิ่นหายเกลี้ยง!! :)

สรุป

Sawyer Squeez มีขนาดเล็กพกพาสะดวกในการเดินป่า ท่องเที่ยวทั่วๆไป หรือเก็บไว้เป็น survival kit รองรับสถานการณ์ภัยพิบัติก็ได้ น้ำไหลเร็ว สามารถใช้กับขวดน้ำพลาสติกที่มีขนาดปากขวดทั่วไปได้ แต่ไว้เป็นทางเลือกดีกว่า ควรใช้กับถุงที่แถมมาหรือขวดน้ำชนิดพับได้จะดีกว่า สำหรับขนาดปากถุงที่เล็กตอนเติมน้ำถามว่ายากไหม ก็บอกว่าไม่ยาก แค่มันไม่สะดวกเหมือนกับปากถุงใหญ่ๆ เช่นแบบ Gravity แต่ด้วยขนาดและน้ำหนักของ Sawyer Squeeze  ผมว่ามันสะดวกคล่องตัวกว่าสำหรับการพกใช้คนเดียว หรือจำนวนคนที่ไม่มาก ไม่เกินสองคนกำลังดี ราคา Sawyer Squeez ตัวนี้ใน amazon 35$ หรือประมาณ 1100 บาท ไม่รวมส่งครับ

ถุง 1L + Filter เมื่อม้วนเก็บ

Update เพิ่มเติม

ปลายปี 2013 Sawyer จะออกกรองน้ำตัวใหม่ ชื่อ Sawyer Mini ซึ่งใช้งานร่วมกับถุงใส่น้ำแบบเดียวกับ Sawyer PointOne Sqeeze แต่มีขนาดเล็กและราคาถูกกว่า ส่วนประสิทธิภาพยังไม่เปิดเผยครับ




วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ไฟฉาย Fenix E25 แบรนด์จีนไม่ได้มีแต่ของห่วย



ออกตัวก่อนผมไม่ใช้ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไฟฉาย จะเขียนแบบผู้ใช้งานนะครับ
ผมซื้อไฟฉาย Fenix E25 มาใช้ได้เกือบปีนึงแล้ว ใช้ดีมากเลยอยากจะเขียนบอกต่อกัน แรกเดิมที ผมต้องการไฟฉายเล็กๆ พกพาได้สะดวก และใช้ถ่าน AA ซึ่งหาซื้อได้ง่าย  ตอนนั้นต้องการไฟฉายที่จะมาแทน Ultrafire กับ Uniquefire ที่เจ๊งไปทั้งคู่หลังจากใช้ได้ไม่นาน แม้อันเก่าทั้งคู่จะราคาไม่แพง แต่ผมคิดว่ามันไม่คุ้มเลย แถมเสียเงินซื้อ ถ่านชาร์จ Li-ion 14500 อีก (ทั้งคู่ใช้ได้ทั้ง AA และ 14500 1ก้อน) เลยคิดว่าน่าจะลองลงทุนอีกหน่อย จึงเป็นที่มาของ Fenix E25 ตัวนี้

 

Fenix E25

Fenix E25 เป็นไฟฉายรุ่นราคาไม่แพงของ Fenix แบรนด์ไฟฉายเกรด A สัญชาติจีน Fenix E25 ใช้หลอด LED CREE XP-E ใช้ถ่าน AAx2 ตามคู่มือเขาว่าให้ใช้ถ่านชาร์จ Ni-MH ดีที่สุด แต่ก็ใช้ได้กับถ่าน Alkaline ทั่วไป ผมเองก็ใช้ Alkaline นั่นแหละสะดวกดี แสงของ E25 มีสามโหมด High (187 Lumens) Mid, (90 Lumens), Low (27 Lumens) รันไทม์ 2h20min, 6h15min, 26h ตามลำดับโดยใช้ถ่าน Ni-MH

แยกร่างเป็นสองท่อน


ภายนอก

งานเนี๊ยบ เรียบร้อยดีมาก โลหะเคลือบอย่างดีเทียบกับสองตัวเก่าของผม ตัวนี้กินขาด  ผมยังไม่เคยจับไฟฉายฝรั่ง เช่น Surefire หรือไฟฉายจีนเกรด A ยี่ห้ออื่น เลยไม่รู้จะเทียบยังไง แต่เท่าที่ดูตัวนี้ ไม่อยากจะเวอร์นะ ดูแต่ภายนอก ผมหาตำหนิเจ้าตัวนี้ไม่เจอจริงๆ

การใช้งาน

Fenix E25 มีสวิตช์อยู่ที่คอไฟฉาย เห็นทีแรกแล้วดูแปลกๆ ปกติคุ้นเคยแต่สวิตช์กดท้ายหรือ Clicky Switch แต่ใช้จริงสวิตช์ที่คอสะดวกมาก โดยเฉพาะไฟฉายลำตัวยาวแบบนี้
แสงเป็นสามโหมด ปกติผมใช้ในเต้นท์หรือในบ้านใช้โหมดต่ำ ใช้ outdoor ก็โหมดกลางหรือสูง แสงแยก เป็นวงกลมสองโซนชัดเจน โซนตรงกลางจะพุ่งและเข้มมาก ส่องได้ไกล (ตามสเปค 156m) คนไม่เคยใช้ ยังเซอร์ไพร์ ไม่นึกว่าตัวเล็กๆแสงจะแรงขนาดนี้

สวิตช์ที่คอไฟฉาย

กันน้ำกันกระแทก 

Fenix E25 กันกระแทก 1m กันน้ำมาตรฐาน IPX-8 (2m) ตอนซื้อวันแรกผมก็ได้ทดสอบเลย เพราะดันไปควงเล่น โดยเอานิ้วควงสายคล้องท้าย จนไปกระแทกกับผนังอย่างแรง ยังดีที่กระจกไม่แตก แต่ทำให้บอดี้เป็นรอยนิดนึง ตอนนั้นผมนอกจากจะเสียดายที่เป็นรอย ยังกลัวเหมือนกันว่าจะมีปัญหาอะไรภายหลังหรือป่าว แต่หลังจากนั้นผมก็ใช้งานปกติ ออกทริป แช่น้ำก็หลายรอบแล้ว ปัจุบันก็ยังทำงานได้ดี (รอดไป ฮ่า)

มีสายคล้อง แถมมาด้วย

สรุป

Fenix E25 มีสวิตช์คอที่ใช้ง่าย แสงสามโหมด ซิมเปิลๆ ที่ได้ใช้งานจริง งานมีคุณภาพดีมาก มีความทนทาน ให้แสงแรงสว่าง กับราคาพันนิดๆ ไม่แพงครับ(เชื่อเถอะ)เทียบกับคุณภาพ  อยากได้ไฟฉายที่ไว้ใจได้ ใช้ในบ้านหรือออกแคมป์ทั่วไป ผมแนะนำ Fenix E25 เลย แต่ถ้าอยากได้แสงแรงกว่านี้ ที่ดูมา ก็เห็นจะมี E35 แล้วก็ PD32 ที่ขนาดใกล้เคียงกัน แต่ทั้ง สองตัวใช้ถ่าน Li-on 18650 ราคาค่าตัวก็จะสูงกว่า E25 ครับ



วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รีวิว กางเกง Smartwool Baselayer NTS MID bottoms


ไปเที่ยวหนาวๆ ถ้าได้ใส่ Baselayer จะช่วยให้อุ่นขึ้นได้มาก บทความนี้ผมจะมาแนะนำกางเกง Base Layer ขนแกะ ของ Smartwool รุ่น NTS Midweight สำหรับใส่อากาศหนาว  แบบ Lightweight ก็มี ผ้าจะบางกว่าใส่ในที่อากาศอุ่นหน่อย ส่วน NTS มาจากคำว่า Next to Skin หมายถึงทรงรัดติดกับผิว
ทำไมต้องขนแกะ? เคยอ่านมาว่า wool หรือขนแกะมีความพิเศษตรงที่ อากาศหนาวก็กักเก็บความร้อนได้ดี อากาศร้อนก็ใส่ไม่ร้อน แถมต้านทานแบคทีเรียได้โดยธรรมชาติ ใส่นานๆยังไม่มีกลิ่นอีกด้วย เห็นขอดีเยอะแบบนี้ จึงอยากลองแม้ราคาจะแพงกว่า Baselayer ใยสังเคราะห์ทั่วไป เกือบเท่าตัว


ภาพรวมภายนอก

การตัดเย็บดูดีครับ เป็น base layer ที่ดูดีมีชาติตระกูล(ขนาดนั้นเลย?) จับเนื้อผ้ารู้สึกได้เลยว่านุ่มละเอียด ช่วงระหว่างขาเขาเย็บมาแบบเป็น gusseted crotch เหมือนพวกกางเกง tactical หรือ outdoors ทั่วไป คือเป็นผ้าสี่เหลี่ยมแปะตรงกลาง แทนการเย็บชนตรงกลาง ทำให้ดูทนทาน ตรงเป้ายังมีช่องให้ช้างน้อยได้โผล่มาหายใจด้วย

ความรู้สึก

ผมรู้สึกคันๆทีแรกที่ได้ใส่ ไม่ได้มากแต่ก็ไม่ถึงกับนุ่มอย่างที่คิดไว้ ใส่ไปสักพักแล้วก็รู้สึกชิน กลับชอบตรงที่มันอุ่นดีมาก ลองใส่ที่อุณภูมิ 30 องศา ใส่แล้วก็ไม่รู้สึกว่าร้อน มีความรู้สึกว่ามันระบายอากาศได้ดี ใส่เป็นเล็กกิ้งตัวเดียวได้เลย ถ้าไม่ติดตรงเป้าที่ทำไว้ให้ช้างน้อย เลยดูเป็นกางเกงในไป เรื่อง fitting ก็พอดี มีช่วงก้นที่รู้สึกว่าใหญ่ (หรือก้นเรามันแฟ่บไม่รู้) 
ส่วนสำคัญอีกอย่างคือเรื่องกลิ่น ลองใส่นอนติดๆกันหลายวัน เทียบกับบ็อกเซอร์ผ้าฝ้าย ขนแกะตัวนี้ไม่มีกลิ่นเลย ถือว่าสมคำโฆษณาจริงๆ ยังไม่มีโอกาสเอาไปใช้ออกทริป แต่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์มากครับ

 

สรุป

ผมประทับใจ เรื่องดีไซน์การตัดเย็บของ Smartwool ที่ส่วนตัวผมว่าดูดีกว่าคู่แข่งบางราย ส่วนอื่นๆจะเป็นธรรมชาติของขนแกะ merino ซึ่งไม่จำเป็นต้องยี่ห้อนี้ก็ได้ ทั้ง ความนุ่ม เรื่องกลิ่นที่ไม่มี และความสามารถเรื่องจัดการอุณภูมิ ร้อนก็ไม่ร้อน หนาวก็ไม่หนาว คะแนนด้านนี้กินขาดใยสังเคราะห์ไปเลย ทริปหนาวต่อไปของผมต้องมีตัวนี้ติดตัวด้วยแน่นอน

รู้จัก Smartwool เล็กน้อย

Smartwool บ้านเราอาจไม่เคยได้ยินชื่อ แต่ถ้าเป็น Timberland อาจจะรู้จักหรือเคยได้ยินกันมาบ้าง Smartwool เป็นบริษัทในเครือของ Timberland (โดน Timberland ซื้อกิจการ) ทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเสื้อผ้าขนแกะ เน้นตลาดในกลุ่ม outdoor มีชื่อเสียงในอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ถุงเท้าและ Baselayer

eVent DVL



ในกลางปี 2012 บริษัท GE (General Electric) เจ้าของสิทธิบัตรผ้ากันน้ำระบายอากาศ ชื่อ eVent  ได้ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ของตนเองชื่อว่า eVent DVL (Direct Venting Lite) ออกมาต่อกรกับคู่แข่ง GORE-TEX Active Shell และ Polartec Neoshell ซึ่งเป็นรุ่นที่เน้น Breathability สูง

GE ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพของผ้าแบบ 2.5 layer ซึ่งนิยมใช้ในเสื้อกันฝนน้ำหนักเบา  ผ้าแบบ 2.5 layer ประกอบไปด้วย 1 ชั้นนอก หรือ face fabric 2 ชั้นเส้นใยกันน้ำระบายอากาศ ชั้นสุดท้ายจะเป็นสารเคลือบป้องกันชั้นกันน้ำระบายอากาศอีกที หรือเรียกชั้นนี้ว่า half layer

เสื้อกันน้ำระบายอากาศแบบมาตรฐานจะมี 3 layer ซึ่งเน้นความทนทานมากกว่า โดย layer ที่3 จะใช้เส้นใยตาข่าย เป็นผืนเส้นใยจริงๆ  ประกบกับชั้นนอกเหมือนแซนวิส โดยมีชั้นกันน้ำระบายอากาศอยู่ตรงกลาง

eVent DVL ป้องกันชั้นกันน้ำระบายอากาศ โดยใช้วิธีพิมพ์แผ่นป้องกัน ซึ่งมีโครงสร้างเป็นตาข่ายสามเหลี่ยมต่อกัน พิมพ์ไปที่ชั้นกันน้ำระบายอากาศโดยตรง วิธีนี้จะทำให้ชั้นกันน้ำระบายอากาศมีความทนทานในขณะที่ยังมีช่องว่างมากพอให้อากาศไหลผ่านได้ ความร้อนและเหงื่อจะผ่านช่องว่างเหล่านี้โดยตรง ไม่ต้องผ่านสารเคลือบพลาสติกแบบ 2.5 layer ทั่วไป หรือ ใยตาข่ายแบบ 3 layer ซึ่ง eVent DVL จะใช้ layer ชั้นนอกที่มีน้ำหนักเบาด้วยเท่านั้น

ยี่ห้อที่นำ eVent DVL ไปใช้ เช่น  Westcomb, Rab

Westcomb Focus LT Hoody หนัก 195 กรัม

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Polartec NeoShell ผ้ากันน้ำระบายอากาศน้องใหม่ จะมาสะเทือนยักษ์ใหญ่ GORE-TEX


การแข่งขันที่สำคัญในอุตสาหกรรม Outdoor คือการผลิตสิ่งทอที่กันน้ำและระบายอากาศได้
สองเจ้ายักษ์ใหญ่ในวงการคือ GORE-TEX และ eVent ที่มีมานานมากกว่าสิบปี, ในขณะเดียวกันก็มีผู้กล้าท้าชนรายใหม่เข้ามา นั่นคือ Polartec ซึ่งในปี 2010 ได้ออกสิ่งทอกันน้ำระบายอากาศของตัวเอง มีชื่อว่า NeoShell โดยอ้างว่าเป็นสิ่งทอกันน้ำที่ระบายอากาศได้ดีที่สุดในท้องตลาด

Polartec แต่เดิมมีชื่อในการเป็นผู้ผลิตสิ่งทอกันหนาว ให้แบรนด์ outdoor อื่นๆ เอาไปทำเสื้อ fleece, softshells ฯลฯ ซึ่ง Polartec ยังไม่เคยนำเสนอสิ่งทอสำหรับกันน้ำ+ระบายอากาศของตัวเองมาก่อน



จุดขายสำคัญของ NeoShell อยู่ที่การระบายอากาศ ใยกันน้ำของ NeoShell ผลิตจาก Polyurethane ที่ได้รับการออกแบบใหม่ โดยจะมีพื้นที่ที่เป็นรูมากกว่า ทำให้อากาศไหลผ่านได้ดี และไม่เหมือน Hard shell แบบเดิมๆ ตรงที่ไม่ต้องอาศัยความร้อนจากร่างกายก็สามารถระบายอากาศได้ เขาโฆษณาว่าแบบนั้น แต่ก็ยังมีคำถามในเรื่องของประสิทธิภาพในการกันน้ำ ซึ่งว่ากันว่าต่ำ ประมาณ ~10,000 mm ในขณะที่ GORE-TEX Active Shell เป็นรุ่นที่ระบายอากาศดีที่สุดของ GORE-TEX กันน้ำที่ 18,000mm และความทนทานของ NeoShell ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัด

นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรม outdoor จัดประเภทให้ Neoshell ให้อยู่ในระหว่าง Hard shell กับ Soft shell (Marmot ให้นิยามว่าเป็น Heavy Duty Softshell) วิเคราะห์กันว่า Neoshell ไม่ได้ออกมาทำตลาดแข่งกับ Gore Tex รุ่นกันน้ำสูงอย่าง Pro Shell หรือ Performance Shell โดยตรง แต่จะเป็นคู่แข่งกับ Gore tex Active Shell ที่เน้นเรื่องการระบายอากาศ โดยเน้นตลาดในกลุ่มผู้ที่ยอมแลกอัตราการกันน้ำกับการระบายอากาศที่สูง หรือนักกีฬาที่ต้องการความยืดหยุ่นของผ้า เช่นพวกนักปีนหน้าผาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายมาก

ตามรีวิวด้านการใช้งานเสื้อแจ็คเก็ตที่ทำด้วย NeoShell พบว่า มีผิวสัมผัสที่นุ่ม ยืดหยุ่นได้ เสียงไม่ดังกรอบแกรบเหมือน Hard shell ทั่วไป กันลมกันน้ำได้ดีกว่า Soft shell แต่ไม่ถึงขนาด Hard shell สิ่งสำคัญ คือแทบทั้งหมดมีความประทับใจในด้านประสิทธิภาพในการระบายอากาศที่ดีมาก

มีพาร์ทเนอร์หลายยี่ห้อที่ทำเสื้อแจ็กเก็ตด้วย NeoShell เช่น Rab Stretch Neo, Wescomb Apoc, Marmot Zion ฯลฯ

วิดีโอรีวิว Rab Stretch NeoShell Jacket

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่
http://www.polartec.com/shelter/polartec-neoshell/
http://www.trailspace.com/articles/2010/11/30/polartec-neoshell.html
http://www.ukclimbing.com/gear/review.php?id=4487

บทความเขียนโดย
ณัฐ Nutt
www.thaihikergear.com

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เรื่องของกางเกงเดินป่า Hiking Pants


กางเกงเดินป่า มีหลายชนิดแบ่งตามเส้นใยหรือวัสดุที่ใช้ทำ การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและภูมิอากาศ ซึ่งคุณสมบัติของกางเกงเดินป่าที่ดีทั่วไป คือเบาและแห้งไว ถ้าเดินป่าแบบไม่ลุยมากจะใช้กางเกงผ้าฝ้ายชนิด(บาง)หรือผ้าลินินก็ได้ แต่ถ้าลุยหนักๆวัสดุประเภทใยสังเคราห์จะเหมาะกว่า ใยสังเคราะห์จะไม่นิ่มหรือใส่สบายเท่าฝ้าย แต่จะแห้งไวและทนทานต่อแรงเสียดสีหรือการขูดได้ดีกว่า และเมื่อโดนน้ำ ฝ้ายจะอมน้ำ ทำให้หนักและแห้งช้า ตัวอย่างเช่น กางเกงยีนส์ หรือกางเกงที่ทำจากฝ้ายหนาๆ ไม่เหมาะกับการเดินป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าเขตร้อนแบบบ้านเรา

ประเภทของกางเกงเดินป่า
  • กางเกงเดินป่าผ้าฝ้ายล้วน ดูดี หาง่าย ใส่สบาย ระบายอากาศดี แต่ถ้าจะทำให้ทนทานเหมาะกับกิจกรรม outdoor เนื้อผ้าจะหนาและน้ำหนักมาก ไม่เหมาะกับการนำติดตัวเวลาเดินไกล หรือใส่ในที่สภาพอากาศเปียกชื้น เพราะแห้งช้า
Mountain Khakis M'Original Pants
ผ้า cotton 100%

  • กางเกงเดินป่าผ้าฝ้ายผสมใยสังเคราะห์ กางเกงแบบนี้จะผสมใยสังเคราะห์เข้าไปด้วยในอัตราส่วนสูง เพื่อความบางเบาและทนทาน อย่างเช่น กางเกงคอมแบททหารทั้งแบบปกติและแบบเขตร้อน(เนื้อผ้าบางกว่า)
Fjallareven Greenland trousers ใช้วัสดุที่เรียกว่า g1000
ฝ้าย 35% ใยสังเคราะห์  65%
5.11 Taclite Pro กางเกงแทคติคอลสุดฮิต ผสมใยสังเคราะห์ 65% บางเบากว่ารุ่นธรรมดา


  • กางเกงเดินป่าใยสังเคราะห์ล้วน ผมขอแบ่งเป็นกางเกงผ้าแห้งไวและแบบ Softshell 
กางเกงผ้าแห้งไว กางเกงแบบนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่ Backpacker เพราะพับเก็บได้เล็กและมีน้ำหนักเบา วัสดุจะเป็นไนลอนที่บางแต่มีความทนทาน เช่น Supplex ซึ่งเส้นใยจะมีความละเอียดกว่าไนลอนทั่วไป ใส่สบาย มีน้ำหนักเบาและแห้งไว  ส่วนใหญ่จะทำทรง Loose fit หรือทรงใหญ่ เพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก รุ่นที่ทรงเข้ารูปหน่อยอาจจะผสมเส้นใยที่มีความยืดหยุ่นเช่น Spandex ด้วย กางเกงผ้าแห้งไวนิยมทำแบบต่อขาหรือถอดทำเป็นขาสั้นได้ (Convertible) กางเกงแบบนี้ผมว่าเหมาะกับเดินป่าเขตร้อนแบบบ้านเราอย่างมาก
Outdoor Research Equinox Convertible


กางเกง Softshell เนื้อผ้าจะเป็นใยสังเคราะห์ที่ยืดหยุ่น สามารถกันน้ำ(หิมะ)และลมได้  (เช่น Schoeller Dryskin) เหมาะกับอากาศหนาว  มีแบบทรงเข้ารูป นิยมในหมู่นักปีนเขา กางเกงแบบนี้มีความทนทานแต่ราคาสูง
Mammut Courmayeu
Arc'teryx Gamma Guide Softshell

Nutt
www.thaihiker.com

วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของแผ่นรองนอน Camping Mattress



แผ่นรองนอน (camping pad) แผ่นรองนอนนักเดินป่าหลายคนมองว่ามันเป็นสิ่งที่ luxury หรือหรูหราฟุ่มเฟือย แต่จริงๆแล้วมันมีอะไรที่มากกว่าความสบายแต่เพียงอย่างเดียว ผมเคยได้ยินเพื่อนบ่นเวลาไปนอนเต้นท์ว่า นอนในถุงนอนแล้วเย็นหลังหรือข้างบนอุ่นดีแต่หลังเปียก ไม่รู้จะโทษเต้นท์หรือถุงนอนดี จริงๆแล้วปัญหานี้ต่อให้เต้นท์หรือถุงนอนราคาแพงแค่ไหนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะพื้นเย็นหลังอุ่นมันเกิด condensation เป็นน้ำขึ้นที่ถุงนอน อากาศหนาวๆยิ่งทรมานล่ะทีนี้ ในบ้านเรายังไม่หนาวเท่าไร ถ้าต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว และยังมีงานวิจัยระบุว่าความร้อนของร่างกายจะสูญเสียไปกับพื้นมากกว่าอากาศเป็นสามเท่าเลยทีเดียว ซึ่งแผ่นรองนอนจะช่วยแก้ปัญหาได้ แผ่นรองนอนจะเป็นตัวกั้นระหว่างพื้นกับถุงนอน กักเก็บความอบอุ่นของร่างกายเราไว้ไม่ให้สูญเสียไปกับพื้นเย็นๆ

ประเภทของแผ่นรองนอน
  • แผ่นโฟม (Foam pad) ข้อดีของแผ่นรองนอนแบบโฟมคือเบา ใช้งานง่าย ทนทาน ราคาถูก แต่ใหญ่มากเทอะทะ นอนไม่สบาย บ้านเราเห็นมีขายแบบนี้มาก ที่เป็นโฟมทั่วไป กับแบบโฟมอย่างดี อย่างของยี่ห้อ Therm a rest รุ่น z-lite เป็นที่นิยมมากใน usa ถ้าใครนิยมความเรียบง่ายไม่ต้องดูแลรักษามาก ไม่เน้นเรื่องขนาดและความสบายที่ไม่มาก แผ่นรองนอนแบบโฟมเป็นตัวเลือกที่ดี
    แผ่นรองนอนโฟมThermarest z-lite

  • พองลมเองได้ (Self-inflating pad) ข้อดีของแผ่นรองนอนแบบพองลมเองได้คือนอนสบายมาก ประสิทธิภาพดี แต่ข้อเสียคือมีน้ำหนักมาก ม้วนเก็บแล้วยังมีขนาดใหญ่แม้จะเล็กกว่าแบบโฟม การปูนอนก็ต้องตรวจดูพื้นที่ที่จะวางให้ดีเพราะถ้าเกิดมีอะไรทิ่มรั่วขึ้นมาก็จบกัน แผ่นรองนอนแบบนี้หลายรุ่นส่วนใหญ่เหมาะไว้ใส่รถไปแคมป์ปิ้งมากกว่าที่จะใส่เป้เดินแบบ backpacking  มีบางรุ่นของ Therm-a-rest เช่น prolite ที่พอใส่เป้ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระมากมาย ทั้งนี้เพื่อลดขนาดและน้ำหนักเขาจะทำแบบครึ่งตัวด้วย คือยาวเฉพาะส่วนที่ต้องเน้นความอบอุ่นแค่ช่วงหัวกับหลังเท่านั้น ปล่อยขาไว้ให้เราหาอย่างอื่นมารองแทน T_T
    ขนาดแผ่นรองนอนแบบ self inflating ของ Therm-a-rest
    แผ่นรองนอนแบบพองลมเองต้องอาศัยพื้นที่ในการเก็บรักษา ต้องหาที่เก็บโดยกางไว้ตลอดเวลา จะออกทริปถึงค่อยม้วนใส่เป้ เพราะโฟมด้านในถ้าม้วนเก็บนานๆจะพองลมเองได้ยาก  ผมมีประสบการณ์กับแผ่นรองนอนแบบนี้ คือมันพองลมเองได้ก็จริงแต่เราก็ต้องเป่าเพิ่มเข้าไปอยู่ดี และรู้สึกว่าไม่ค่อยสะดวกเท่าไรเวลาม้วนเก็บ เพราะต้องรีดลมกันสักพักกว่าจะได้ขนาด
    Therm-a-rest Prolite ขนาด regular น้ำหนัก 460 กรัม
วิดีโอนี้เขาใช้แบบพองลมเองครึ่งตัว ประกอบกับแบบโฟม
  • ใส่ลมเอง (Air pad) แผ่นรองนอนราคาแพงชนิดนี้เรียกว่าเป็นอุดมคติของ backpacker เลยก็ว่าได้ เพราะคุณสมบัติที่พับเก็บได้เล็ก น้ำหนักเบา นอนสบาย แผ่นรองนอนแบบนี้อาศัยลมเป็นหลัก ภายในจะยัดไว้ด้วยใยสังเคราะห์หรือขนเป็ด-ห่าน เพื่อกักเก็บความร้อนและไม่ให้รู้สึกยวบยาบจนเกินไป การใช้ผู้ใช้ต้องเติมลมเอง ถึงแม้จะใช้วัสดุที่ต้านทานต่อการเจาะ (puncture resistant) แต่ก็ต้องระวังของแข็งของมีคม เช่นเดียวกับแบบ self-inflating
    Exped SynMat UL 7 Air Pad ขนาด M น้ำหนัก 450 กรัม
     

Nutt
ThaiHiker.com

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ลายพราง MTP และกางเกง British Army MTP Gore-Tex


วันนี้ได้รับพัสดุที่ซื้อมาเป็นกางเกง Gore Tex กันน้ำลายพราง MTP เลยจะเขียนเรื่องลายพราง MTP และพรีวิวกางเกงนิดหน่อยครับ

ที่มาของลายพราง MTP (Multi-Terrain Pattern)
    ว่ากันว่าทหารอังกฤษที่ปฏิบัติหน้าที่ในอัฟกานิสถานช่วงก่อนปี 2010 หรือก่อนที่ลายพราง MTP นี้จะแจกจ่าย มีปัญหาในเรื่องของลายพรางที่ต้องใช้ในภูมิประเทศที่หลากหลายผสมกัน อย่างจังหวัด Helmand ที่มีพื้นที่ทะเลทรายและพื้นที่สีเขียวที่ชาวบ้านทำการเกษตรผสมกันอยู่ ทหารอังกฤษตอนนั้นมีลายพราง DPM (Disruptive Pattern Material) ซึ่งมี 2 สีให้เลือกคือ  สีทะเลทรายกับสีเขียว ลายพรางทั้งสองสีทำหน้าที่ได้ดีเฉพาะภูมิประเทศที่มีสีเดียวกับสีของมัน เมื่อต้องข้ามภูมิประเทศที่หลากหลาย เขียวบ้างทะเลทรายบ้างในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ถ้าสีใดสีหนึ่งไปอยู่ผิดที่มันจะตัดกับสภาพแวดล้อมทันที ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทหารจะเปลี่ยนชุดกันอยู่ตลอดในสนามรบ พวกแนวหลังจึงต้องค้นหาลายพรางที่จะเหมาะกับภูมิประเทศที่ "mix" กันแบบนี้ เขาทดสอบกัน จนได้ลาย Multicam ของบริษัทอเมริกัน Crye Precision ซึ่งได้คะแนนสูงสุดและได้รับคัดเลือกเป็นแม่แบบ  ดังนั้นลายพราง MTP จึงใช้สีและสัดส่วนของสีที่เหมือนกับลายพราง multicam ต่างกันที่ MTP จะใช้แพทเทิรนลายแปรงปัดแบบพราง DPM ของเดิมเพื่อคงเอกลักษณ์ความเป็นอังกฤษไว้และไม่อนุญาติให้ทำสินค้าที่ใช้ลายพราง MTP ขายในเชิงพาณิชย์ (กางเกงผมเป็นสินค้า "surplus" ของทหาร) ทางการอังกฤษจะเปลี่ยนลายพราง DPM เขียว เป็น MTP ทั้งหมดภายในปี 2016 ด้วย

File:Brtish dpm2.jpg
ลายพราง DPM สีเขียวลายพราง DPM ทะเลทราย

http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/de/British_Armed_Forces_Multi_Terrain_Pattern_camouflage.jpg/250px-British_Armed_Forces_Multi_Terrain_Pattern_camouflage.jpg
MTPMulticam




ที่นี่ว่าด้วยเรื่องกางเกงที่ซื้อมา  กางเกงตัวนี้เป็นกางเกง Gore Tex กันน้ำ  น้ำหนักเบา 350 กรัม (size s) ออกแบบมาเป็นกางเกงชั้นนอกใช้สวมทับกางเกงคอมแบทอีกที ทรงเลยดูใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยและไม่มีกระเป๋ากางเกง ที่ผมชอบคือมันมีซิปสองด้านยาวตลอดช่วงขา ซิปด้านล่างรูดเปิดได้ทำให้สะดวกต่อการสวมโดยไม่ต้องถอดรองเท้าออกก่อน ซิปช่วงบนที่ติดกับเอวทำให้ล้วงเข้ากระเป๋ากางเกงด้านในได้ ถ้าใครมีกางเกง Gore Tex ของ us army จะเห็นว่าเขาทำเป็นช่องไว้ล้วงเข้าด้านในโดยมีเวลโครหรือตีนตุ๊กแกปิดไว้ ซึ่งผมว่าแบบเป็นซิปสะดวกกว่ามาก วัสดุก็คล้ายๆกับของ us แต่งานเรียบร้อยดีกว่า ตัวนี้ผลิตที่ไหนไม่บอกไว้ แต่คิดเองว่าน่าจะเป็นประเทศในแถบ EU ไม่ก็ China ไปเลย สำหรับการใช้งานจะใช้ตอนไหน? ถ้าไปต่างประเทศไว้ลุยหิมะแทนกางเกง snow หรือในบ้านเราใช้คู่กับแจ็กเก็ตเอามาเดินป่าลุยฝนแทนปันโจพลาสติกก็ได้ครับ
เพิ่มเติม ถึงจะเป็น Goretex หายใจได้ แต่ยังไงมันก็หายใจได้ไม่ดีเท่าผ้าธรรมดา สำหรับคนที่ไม่แคร์เรื่องเปียกเท่าไร ใช้กางเกงผ้าร่มกันลมก็ได้ครับ มันจะกันน้ำได้ประมาณนึงไม่มากแต่ระบายอากาศได้ดีกว่า

ซิปกันน้ำยาวตลอดช่วงขา ใช้สะดวกจริง ชอบตรงนี้แหละ

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ว่าด้วยเรื่องเสื้อขนเป็ด

ผมศึกษาอยู่นานว่าจะมีวัสดุอะไรที่เหมาะสมเป็นเสื้อกันหนาวในระหว่างเดิน Trekking ไกลๆบนภูเขาสูง ปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือเรื่องขนาด ต่อมาคือน้ำหนัก เพราะมีความจำเป็นต้องพกติดเป้แบกเอง เสื้อกันหนาวที่กันหนาวระดับต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ที่ราคาไม่แพงส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ ต่อให้เป็นขนเป็ดที่ว่าเป็นวัสดุที่เบาก็ตาม เลยมีความจำเป็นต้องปรับราคาพิจารณาขึ้นพร้อมกับการค้นข้อมูลที่ต้องมากควบคู่ไปด้วยเพื่อให้คุ้มเงินที่จ่าย พูดซะยาว ผมก็ได้มีตัวเลือกวัสดุไฮโซอยู่สามแบบคือ
 1.  Fleece Polartec
 2. ใยสังเคราะห์ Synthetic เช่น Primaloft
 3. ขนเป็ดหรือห่าน แบบเกรดดีๆ (มีค่า fill power 650+)
 
MHW BLACK 
Mountain Hardwear Monkeyman เสื้อ Fleece Polartec
แบบที่หนึ่ง Fleece Polartec กันหนาวได้น้อยที่สุด แต่น้ำหนักเบาและดูแลง่าย ใส่ได้ตลอดเวลา ราคาแพงน้อย
Patagonia Nano Puff เสื้อบุใยสังเคราะห์ Primaloft
แบบที่สอง ใยสังเคราะห์ แบบนี้กันหนาวดีกว่าแบบแรกแต่ราคาก็ขยับขึ้นมา น้ำหนักก็ไม่หนักไม่เบา ข้อดีคือดูแลง่ายและไม่ต้องกังวลเรื่องความชื้นเพราะมันยังคงคุณสมบัติในการกักความร้อนไว้ได้แม้ขณะที่เปียก ราคาแพง

http://www.montbell.us/products/prod_img/large/k_2301361_tera.jpg 
MONTBELL ALPINE LIGHT DOWN PARKA เสืื้อขนเป็ด 800 fill power
แบบสุดท้าย ขนเป็ด เทียบน้ำหนักต่อคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนแล้ว ขนเป็ดดีที่สุดในสามแบบ และสามารถพับเก็บได้ขนาดเล็กเหลือเชื่อ อายุการใช้งานยาวนานที่สุด แต่ข้อจำกัดคือ ห้ามเปียกน้ำเพราะจะสูญเสียคุณสมบัติทันที ทำให้ต้องดูแลเป็นพิเศษ และมีราคาสูงสุดในสามแบบ คือแพงมาก

หลังจากได้ข้อสรุปในคุณสมบัติของแต่ละแบบ ผมเลือก ขนเป็ด เพราะ มันอุ่นที่สุด และราคาเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นแล้วผมว่าขนเป็ดคุ้มค่ากว่า ขนเป็ดเกรดพรีเมี่ยม (fill power 800) เทียบกับ ใยสังเคราะห์ของยี่ห้อเดียวกัน ขนเป็ดแพงกว่าประมาณ 20-30$ ผมมองว่าไม่มากเทียบกับอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าของขนเป็ด (อันนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคนด้วยครับ) เพราะผมคงไม่ใส่ขนเป็ดเดินขึ้นเขาทั้งวันแน่เพราะมันจะร้อนเกิน เอามาใช้แค่ตอนกลางคืนหรือเมื่อหยุดพัก เพราะที่อุณหภูมิประมาณ 10 องศาตอนกลางวัน ถ้าร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดมีเสื้อฟลีสธรรมดาสักตัวผมว่าก็พอแล้ว หรือถ้าจำเป็นต้องใส่กลางแจ้งผมจะมีแจ็คเก็ตกันน้ำตัวนอกอีกชั้นนึง

Fill Power ค่าบ่งบอกคุณภาพขนเป็ด


จะเห็นที่ผมเขียนเป็นตัวเลข 650, 800 เรียกว่าค่า Fill Power เป็นตัวบ่งบอกคุณภาพของขนเป็ด ค่ายิ่งสูงแสดงว่าขนเป็ดมีคุณภาพดี หมายความว่าที่น้ำหนักขนเป็ดเท่ากัน ขนเป็ดที่มีค่า Fill power สูงจะกักเก็บอากาศได้มากกว่า เขาจะวัดโดยใช้ขนเป็ดหนักขนาด 1 ounce ใส่ลงไปในภาชนะทรงกระบอก ใช้ลูกสูบอัดแล้วปล่อยดูว่าขนเป็ดมันจะฟูขึ้นมากินพื้นที่ทรงกระบอกเท่าไร ค่าจะอยู่ระหว่าง 400-900 หน่วยเป็น cubic inches เช่น 650 หมายถึงขนเป็ดฟูขึ้นมากินพื้นที่ 650 cubic inches เป็นต้น  ค่าขนเป็ดที่คุณภาพระดับปีนเขาจะอยู่ที่มากกว่า 650 ขึ้นไป

 
วิดีโอตัวอย่างวิธีวัด Fill Power การวัดจริงจะต้องควบคุมอุณหภูมิความชื้น ฯลฯ หลายปัจจัย

เสื้อขนเป็ดที่มี Fill Power สูงจะมีน้ำหนักเบาและพับเก็บได้เล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอุ่นกว่าเสื้อขนเป็ดที่มี Fill Power ต่ำ การที่จะทำให้เสื้อขนเป็ดที่มี Fill Power ต่ำ อุ่นเท่ากับขนเป็ดที่มี Fill Power สูง จะต้องใช้ปริมาณขนเป็ดที่มากกว่า เรียกว่าต้องใช้ Fill Weight ที่มากขึ้น (อย่าสับสนกับ Fill Power) ดังนั้นไม่จำเป็นว่าเสื้อขนเป็ดที่ Fill Power ต่ำกว่า จะอุ่นน้อยกว่า เพราะถ้ามี Fill Weight ที่มากพอ ก็อุ่นได้เหมือนกันแต่ต้องแลกกับน้ำหนักและขนาดที่ใหญ่กว่านั่นเอง การจะพิจารณาเสื้อขนเป็ดแบบไหนอุ่นกว่าเราต้องดูสองค่าควบคู่กันด้วย
Marmot ZEUS 800 fill power แบบของผม จัดอีเบย์มา 85$ รวมส่ง ไม่เลวทีเดียว ^0^

การซักเสื้อขนเป็ด

การทำความสะอาด ต้องถามผู้ผลิตหรือ ดูที่ Care Tag ที่ติดบนเสื้อจะดีที่สุด อธิบายอย่างนี้ ปกติแล้วเสื้อขนเป็ดไม่ถูกกับน้ำ การซักมือหรือเครื่องซักผ้าจะทำให้ขนเป็ดจับตัวเป็นก้อนเสียหาย เราจึงจะต้องซักแห้งเท่านั้น  แต่ๆๆ มีขนเป็ดที่ถูกผ่านกรรมวิธีพิเศษ เพื่อทำให้โดนน้ำได้ไม่เสียหาย โดยเฉพาะขนเป็ดของแบรนด์ที่ทำเสื้อผ้า Outdoor ส่วนใหญ่ ซึ่งเขาจะให้ซักกับเครื่องซักผ้าปกติเท่านั้นโดยห้ามซักแห้ง

ยี่ห้อเสื้อและผลิตภัณท์ขนเป็ด Outdoor ที่มีชื่อเสียง
  • Marmot
  • Montbell
  • Patagonia
  • Rab
  • Western Mountaineering
  • Montane
  • Mountain Equipment


Nutt
www.thaihiker.com

วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

Gore-Tex แบบคร่าวๆ

   การทำกิจกรรมเอาท์ดอร์อาจต้องพบเจอสภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่นมีฝนหรือหิมะตก การรักษาอุณหภูมิร่างกายให้ปกติเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ไม่เจ็บไข้ไปเสียก่อนเสื้อผ้าที่กันลมกันน้ำช่วยได้เป็นอย่างมาก ถ้ากิจกรรมทั่วไปที่ใช้ระยะเวลาไม่นานเราสามารถใช้เสื้อกันฝนที่ทำจากพลาสติกธรรมดาที่มีราคาถูก แต่สำหรับนักกีฬาหรือผู้ที่ต้องใช้เวลาในกิจกรรมกลางแจ้งนานๆ เสื้อกันฝนพลาสติกธรรมดาอาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากเสื้อกันฝนพลาสติกทั่วไปกันน้ำได้ แต่ก็กันเหงื่อหรือไอความร้อนที่ออกจากตัวเราด้วยเช่นกัน   เมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เหงื่อที่ระบายออกไม่ได้นอกจากจะอับและทำให้รู้สึกอึดอัดแล้ว ไอความร้อนจะกลั่นเป็นน้ำมาสบทบอีก ทำให้ตัวเปียกและเสี่ยงต่อภาวะอุณภูมิร่างกายลดต่ำ (Hypothermia)โดยเฉพาะขณะพักหรือหยุดกิจกรรม ปัจจุบันมีเทคโนโลยีมากมายที่ผลิตเสื้อผ้าที่กันน้ำและระบายอากาศได้ด้วย ส่วนใหญ่จะใช้สารเคลือบลงบนผ้า สำหรับที่เป็นเส้นใยกันน้ำจริงๆมีไม่กี่เทคโนโลยีหนึ่งในนั้นที่มีชื่อเสียงและมีมานานกว่าใครคือ Gore-Tex
http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/94/Goretex_schema-en.png
    Gore-Tex เป็นเทคโนโลยีที่นำเส้นใยพลาสติกที่บางและมีช่องขนาดเล็กพอที่จะกันโมเลกุลของน้ำแต่ยังให้อากาศไหลผ่านได้ โดยจะนำมาซ้อนกับผ้าซึ่งเป็นไนลอนหรือโพลีเอสเตอร์ชั้นนอกเพื่อความสวยงามและทนทาน อาจมีชั้นในเพื่อให้ผิวสัมผัสนุ่มขึ้น Gore-Tex รุ่นทั่วไปที่ไม่ใช่ Soft Shell จะมีอัตราการกันน้ำที่ 28,000 mm Gore-Tex มีหลายรุ่น อัตราการกันน้ำ(waterproof)แต่ละรุ่นเท่ากัน ต่างกันที่อัตราการระบายอากาศ (Breathability) ความทนทานและคุณสมบัติอื่นๆ แน่นอนว่า Breathability สูง ยิ่งให้ความรู้สึกสบาย แต่ถ้าไม่ได้มีการเคลื่อนไหวร่างกายมากนักอาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ breathability ที่สูงก็ได้ Gore-Tex ไม่ได้กันหนาว กันหนาวในที่นี้คือเป็นตัวกักเก็บความร้อนที่ออกจากร่างกาย (gore-tex ระบายออก) ซึ่งรุ่นที่ Breathability สูง เช่น Active shell,หรือ Pro shell อาจจะรู้สึกว่าว่าอุ่นน้อยกว่ารุ่นธรรมดา  นที่อากาศหนาวจำเป็นต้องมีชั้น Insulation ซึ่งอาจจะเป็น ขนสัตว์ (wool), ฟลีส (fleece), ใยสังเคราะห์, หรือขนเป็ด สวมใส่ด้านในด้วย

DWR (Durable Water Repellent)
   Gore-Tex มีความทนทานอยู่ได้เป็นสิบปี ส่วนที่เสื่อมก่อนจะเป็นสารเคลือบที่เรียกว่า DWR ( Durable Water Repellent ) ที่เคลือบผิวชั้นนอกอีกที ซึ่งเราจะเห็นน้ำกลิ้งเป็นหยดเมื่อโดนเนื้อผ้า สารนี้ถ้าเสื่อมจะทำให้ผ้าชั้นนอกอมน้ำ ถึงแม้น้ำจะไม่สามารถผ่านเส้นใยมาได้แต่ก็ทำให้ผ้ามีน้ำหนักมากขึ้นและแห้งช้า เราสามารถเคลือบ DWR เองได้  ผลิตภัณท์เคลือบDWRทั่วไปจะอยู่ในรูปแบบสเปรย์ ฉีดเคลือบก่อนนำไปอบในเครื่องอบผ้า

แบรนเสื้อผ้า outdoor ที่นำ Gore-Tex มาใช้
อเมริกาเหนือ
  • Arc'teryx
  • Patagonia
  • Marmot
  • The North Face
  • Outdoor Research

ยุโรป
  • Norrona
  • Haglofs
  • Mammut
  • Millet
  • Mountain Equipment

*บางยี่ห้อมีเทคโนโลยีของตัวเองใช้กับรุ่นที่ราคาไม่สูงมาก เช่น Precip ของ Marmot, Hyvent ของ TNF

คู่แข่งสำคัญของ Gore-Tex คือ Event ซึ่งมีชื่อมากในเรื่องของ breathability ที่สูง
แบรนด์เสื้อผ้า outdoor ที่ใช้เทคโนโลยี Event
  • Rab
  • Montane
  • Westcomb