รองเท้าเป็นสิ่งสำคัญมาก อยู่ในป่าในเขาถ้าเท้าเกิดบาดเจ็บขึ้นมาเป็นหมดสนุกแน่ๆ หลายคนบอกว่าเท้าคือชีวิตกันเลยทีเดียว รองเท้าเดินป่าจึงต้องทนทานใส่สบายและปกป้องเท้าเราได้ดี ในบทความนี้จะนำเสนอข้อมูลของรองเท้าเดินป่าเพื่อผู้สนใจและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกซื้อรองเท้าที่เหมาะสมต่อไปครับ รองเท้าที่ภาษาอังกฤษว่า Backpacking, trekking หรือ hiking boots ในบทความนี้ขอเรียกรวมเป็นรองเท้าเดินป่านะครับ
ประเภทรองเท้าเดินป่าแบ่งตามการใช้งาน
ชนิดเบา (Lightweight hiking boot)
ออกแบบมาสำหรับการเดินแบบทริปสั้นๆ ที่ไม่มีสัมภาระหนัก รองเท้าประเภทนี้มีทั้งแบบข้อเตี้ย(Low-Cut) และหุ้มข้อ(Mid-Cut) ลักษณะจะคล้ายๆรองเท้ากีฬาทั่วไปแต่พื้นจะแข็งและมีความทนทานกว่า ข้อดีของรองเท้าแบบนี้คือเบา มีความคล่องตัว ระบายอากาศดี แต่ถ้าคุณต้องแบกเป้หนักเทรคกิ้งไกลในภูมิประเทศโหด รองเท้าแบบนี้จะไม่เหมาะ เพราะ support ข้อเท้าได้น้อย และความทนทานจะน้อยกว่ารองเท้าเดินป่าประเภทอื่น
รองเท้าแบ็คแพ็คกิ้ง Backpacking boot หรือ Mid-weight hiking boot
รองเท้าแบบนี้ออกแบบมา เพื่อรองรับน้ำหนักสัมภาระด้วย จะเป็นแบบหุ้มข้อ Mid-cut หรือ High-cut เพื่อกระจายโหลดและปกป้องข้อเท้า พื้นแข็งหนา มีความทนทานกว่าแบบชนิดเบา ถ้าต้องเดินไกลและแบกสัมภาระสัก 8 kg หรือมากกว่านั้น ผมแนะนำรองเท้าชนิดนี้ครับ
รองเท้าบูทปีนเขา (Mountaineering Boots)
ใช้สำหรับปีนภูเขาสูง>3000m หรือพื้นที่หนาวเย็นจัดๆ (บ้านเราไม่ต้องใช้ชนิดนี้แน่นอน) มีทั้งแบบที่ทำไว้ปีนภูเขาน้ำแข็งโดยเฉพาะ หรือหน้าตาแบบ Backpacking ที่เพิ่มวัสดุป้องกันเท้า รองเท้าประเภทนี้จะเป็นแบบหุ้มข้อสูง (High-cut) ทั้งหมด ออกแบบมาไว้เพื่อเดินลุย off-trail โดยแท้ สามารถรับน้ำหนักได้มากและมีความมั่นคงทนทานมากกว่าทุกแบบ ภายในบุกันหนาวหรือ Insulation และรองรับ crampon สำหรับเดินบนน้ำแข็งด้วย
ความสูงของรองเท้า
รองเท้าวิ่งหรือรองเท้าเดินป่า light weight จะใช้แบบนี้เป็นส่วนใหญ่เพราะเบา ถอดเข้าออกง่าย สามารถเคลื่อนไหวเท้าได้อิสระมากกว่าแบบอื่น แต่ทั้งนี้ถ้าเราแบกน้ำหนักมากอาจเกิดข้อเท้าพลิกบาดเจ็บได้ง่ายเช่นกัน รองเท้าแบบนี้เหมาะกับคนที่เดินท่องเที่ยวทั่วๆไปในเมือง หรือแบกเป้ day pack เดินป่าเส้นทางง่าย ระยะสั้นๆ
ส่วนบนจะหุ้มข้อเท้าโดยรอบไว้พอดี เหมาะกับการเดินป่าที่แบกน้ำหนักกลางๆเดินหลายวัน เดินป่าบ้านเราถ้าแบกสัมภาระเองใช้รองเท้าแบบ mid cut ก็ดีครับ
เพิ่มสมดุลและซัพพอร์ตข้อเท้ามากกว่าทุกแบบ เหมาะกับ คนที่แบกเป้น้ำหนัก > 18 กิโลกรัม เดินระยะทางไกลเป็นประจำหรือเดินเส้นทางแบบ off-trail รองเท้าคอมแบททหารก็จะเป็นทรงนี้
วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าเดินป่า
เป็นวัสดุที่สวยงามและทนทานมากที่สุด กันน้ำได้ดี แต่มีน้ำหนักมากและระบายอากาศได้ไม่ดีนัก หนัง full grain นิยมใช้ทำรองเท้า backpacking ราคาแพง หรือรองเท้า mountaineering
บ้านเราเรียกหนังกลับ เป็นหนังคุณภาพรองจาก full grain ผ่านกรรมวิธีขัดผิวด้านนอกคล้ายกับหนังนิ่มหรือ suede (แต่ suede จะขัดผิวด้านใน) หนัง nubuck มีความทนทานสูงแต่มีราคาแพงน้อยกว่า full grain
วัสดุชนิดนี้แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิดตามคุณภาพของเส้นใย ซึ่งคุณสมบัติโดยทั่วไปๆจะมีความเบา แห้งเร็ว ระบายอากาศดี แต่การกันน้ำและความทนทานจะต่ำกว่าวัสดุที่เป็นหนัง รองเท้าเดินป่าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแบบ light weight จะนิยมใช้วัสดุใยสังเคราะห์ผสมกับหนัง nu buck เพื่อให้รองเท้าทนทานมากขึ้น
เช่น Gore-Tex, Event จะบุภายในรองเท้าเพื่อกันน้ำเมื่อต้องลุยหิมะหรือลำธาร รองเท้าที่ใช้เดินในพื้นที่หิมะถ้าไม่ใช่บูทยางมีความจำเป็นต้องบุชั้นกันน้ำด้านใน รองเท้าที่บุกันน้ำความเห็นส่วนตัว ผมว่าช่วยให้เดินสะดวกขึ้นมากแม้ไม่ใช่พื้นที่หนาวเย็น อย่างการเดินป่าหน้าฝนในบ้านเราจะต้องเดินลุยน้ำหรือโคลนระดับประมาณไม่เกินข้อเท้าเป็นส่วนมาก มีบางเส้นทางที่ต้องเดินลุยน้ำถึงหน้าแข้งหรือสูงกว่านั้น(ซึ่งมีไม่บ่อยนัก) ผมจะถอดแล้วใช้รองเท้าแตะที่เตรียมมาเดินลุยน้ำแทน บางคนอาจบอกว่าถ้างั้นรองเท้ากันน้ำไม่มีความจำเป็น อันนี้ก็แล้วแต่สภาพเส้นทางและสไตล์ของแต่ละคนครับ
พื้นรองเท้า Soles
หรือ foot bed เป็นพื้นด้านในที่สัมผัสกับเท้า ทำจากโฟมนุ่มสามารถถอดออกได้ insole ที่ติดมากับรองเท้าถ้าเราไม่ชอบหรือขาดเปื่อย สามารถซื้อยี่ห้ออื่นมาใส่เปลี่ยนเองได้
เป็นส่วนที่ซับแรงกระแทก วัสดุมีสองแบบหลักคือ Ethyl Vinyl Acetate (EVA)และ Polyurethane (PU) อย่างแรกคือ EVA เป็นวัสดุประเภทเดียวกับที่ทำรองเท้าวิ่ง จะนิ่มและเบานิยมใช้กับรองเท้าเดินป่าประเภท light weight ซึ่งจะมีอายุการใช้งานประมาณหกเดือนถ้าใช้งานหนักตลอด ส่วน PU จะมีความหนาแน่นและทนทานมากกว่า นิยมใช้กับรองเท้า backpacking, mountaineering
เป็นยางด้านนอกที่จะสัมผัสกับพื้น Outsole ของรองเท้าเดินป่าจะมีความแข็งกว่ารองเท้าวิ่งทั่วไป รองเท้าเดินป่าหลายยี่ห้อเช่น The North Face, Asolo, Zamberlan ฯลฯ ใช้วัสดุจากบริษัท Vibram ที่ผลิตพื้นยางโดยเฉพาะ หรือยี่ห้อ keen ใช้เทคโนโลยีของตัวเอง โดยใช้คาร์บอนผสมทำให้พื้นรองเท้าแข็งแรงมาก ลายดอกยางจะแตกต่างกันไปตามประเภทรองเท้า ดอกยางรองเท้า mountaineering จะมีความลึกเพื่อเพิ่มการยึดเกาะบนผิวทางที่ไม่สม่ำเสมอ ส่วนดอกยางตื้นจะใช้กับรองเท้า trail-running หรือ light weight hiking ที่ต้องการความยืดหยุ่นมากกว่า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น