วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ว่าด้วยเรื่องเสื้อขนเป็ด

ผมศึกษาอยู่นานว่าจะมีวัสดุอะไรที่เหมาะสมเป็นเสื้อกันหนาวในระหว่างเดิน Trekking ไกลๆบนภูเขาสูง ปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือเรื่องขนาด ต่อมาคือน้ำหนัก เพราะมีความจำเป็นต้องพกติดเป้แบกเอง เสื้อกันหนาวที่กันหนาวระดับต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ที่ราคาไม่แพงส่วนมากจะมีขนาดใหญ่ ต่อให้เป็นขนเป็ดที่ว่าเป็นวัสดุที่เบาก็ตาม เลยมีความจำเป็นต้องปรับราคาพิจารณาขึ้นพร้อมกับการค้นข้อมูลที่ต้องมากควบคู่ไปด้วยเพื่อให้คุ้มเงินที่จ่าย พูดซะยาว ผมก็ได้มีตัวเลือกวัสดุไฮโซอยู่สามแบบคือ
 1.  Fleece Polartec
 2. ใยสังเคราะห์ Synthetic เช่น Primaloft
 3. ขนเป็ดหรือห่าน แบบเกรดดีๆ (มีค่า fill power 650+)
 
MHW BLACK 
Mountain Hardwear Monkeyman เสื้อ Fleece Polartec
แบบที่หนึ่ง Fleece Polartec กันหนาวได้น้อยที่สุด แต่น้ำหนักเบาและดูแลง่าย ใส่ได้ตลอดเวลา ราคาแพงน้อย
Patagonia Nano Puff เสื้อบุใยสังเคราะห์ Primaloft
แบบที่สอง ใยสังเคราะห์ แบบนี้กันหนาวดีกว่าแบบแรกแต่ราคาก็ขยับขึ้นมา น้ำหนักก็ไม่หนักไม่เบา ข้อดีคือดูแลง่ายและไม่ต้องกังวลเรื่องความชื้นเพราะมันยังคงคุณสมบัติในการกักความร้อนไว้ได้แม้ขณะที่เปียก ราคาแพง

http://www.montbell.us/products/prod_img/large/k_2301361_tera.jpg 
MONTBELL ALPINE LIGHT DOWN PARKA เสืื้อขนเป็ด 800 fill power
แบบสุดท้าย ขนเป็ด เทียบน้ำหนักต่อคุณสมบัติในการกักเก็บความร้อนแล้ว ขนเป็ดดีที่สุดในสามแบบ และสามารถพับเก็บได้ขนาดเล็กเหลือเชื่อ อายุการใช้งานยาวนานที่สุด แต่ข้อจำกัดคือ ห้ามเปียกน้ำเพราะจะสูญเสียคุณสมบัติทันที ทำให้ต้องดูแลเป็นพิเศษ และมีราคาสูงสุดในสามแบบ คือแพงมาก

หลังจากได้ข้อสรุปในคุณสมบัติของแต่ละแบบ ผมเลือก ขนเป็ด เพราะ มันอุ่นที่สุด และราคาเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นแล้วผมว่าขนเป็ดคุ้มค่ากว่า ขนเป็ดเกรดพรีเมี่ยม (fill power 800) เทียบกับ ใยสังเคราะห์ของยี่ห้อเดียวกัน ขนเป็ดแพงกว่าประมาณ 20-30$ ผมมองว่าไม่มากเทียบกับอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าของขนเป็ด (อันนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละคนด้วยครับ) เพราะผมคงไม่ใส่ขนเป็ดเดินขึ้นเขาทั้งวันแน่เพราะมันจะร้อนเกิน เอามาใช้แค่ตอนกลางคืนหรือเมื่อหยุดพัก เพราะที่อุณหภูมิประมาณ 10 องศาตอนกลางวัน ถ้าร่างกายเคลื่อนไหวอยู่ตลอดมีเสื้อฟลีสธรรมดาสักตัวผมว่าก็พอแล้ว หรือถ้าจำเป็นต้องใส่กลางแจ้งผมจะมีแจ็คเก็ตกันน้ำตัวนอกอีกชั้นนึง

Fill Power ค่าบ่งบอกคุณภาพขนเป็ด


จะเห็นที่ผมเขียนเป็นตัวเลข 650, 800 เรียกว่าค่า Fill Power เป็นตัวบ่งบอกคุณภาพของขนเป็ด ค่ายิ่งสูงแสดงว่าขนเป็ดมีคุณภาพดี หมายความว่าที่น้ำหนักขนเป็ดเท่ากัน ขนเป็ดที่มีค่า Fill power สูงจะกักเก็บอากาศได้มากกว่า เขาจะวัดโดยใช้ขนเป็ดหนักขนาด 1 ounce ใส่ลงไปในภาชนะทรงกระบอก ใช้ลูกสูบอัดแล้วปล่อยดูว่าขนเป็ดมันจะฟูขึ้นมากินพื้นที่ทรงกระบอกเท่าไร ค่าจะอยู่ระหว่าง 400-900 หน่วยเป็น cubic inches เช่น 650 หมายถึงขนเป็ดฟูขึ้นมากินพื้นที่ 650 cubic inches เป็นต้น  ค่าขนเป็ดที่คุณภาพระดับปีนเขาจะอยู่ที่มากกว่า 650 ขึ้นไป

 
วิดีโอตัวอย่างวิธีวัด Fill Power การวัดจริงจะต้องควบคุมอุณหภูมิความชื้น ฯลฯ หลายปัจจัย

เสื้อขนเป็ดที่มี Fill Power สูงจะมีน้ำหนักเบาและพับเก็บได้เล็ก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะอุ่นกว่าเสื้อขนเป็ดที่มี Fill Power ต่ำ การที่จะทำให้เสื้อขนเป็ดที่มี Fill Power ต่ำ อุ่นเท่ากับขนเป็ดที่มี Fill Power สูง จะต้องใช้ปริมาณขนเป็ดที่มากกว่า เรียกว่าต้องใช้ Fill Weight ที่มากขึ้น (อย่าสับสนกับ Fill Power) ดังนั้นไม่จำเป็นว่าเสื้อขนเป็ดที่ Fill Power ต่ำกว่า จะอุ่นน้อยกว่า เพราะถ้ามี Fill Weight ที่มากพอ ก็อุ่นได้เหมือนกันแต่ต้องแลกกับน้ำหนักและขนาดที่ใหญ่กว่านั่นเอง การจะพิจารณาเสื้อขนเป็ดแบบไหนอุ่นกว่าเราต้องดูสองค่าควบคู่กันด้วย
Marmot ZEUS 800 fill power แบบของผม จัดอีเบย์มา 85$ รวมส่ง ไม่เลวทีเดียว ^0^

การซักเสื้อขนเป็ด

การทำความสะอาด ต้องถามผู้ผลิตหรือ ดูที่ Care Tag ที่ติดบนเสื้อจะดีที่สุด อธิบายอย่างนี้ ปกติแล้วเสื้อขนเป็ดไม่ถูกกับน้ำ การซักมือหรือเครื่องซักผ้าจะทำให้ขนเป็ดจับตัวเป็นก้อนเสียหาย เราจึงจะต้องซักแห้งเท่านั้น  แต่ๆๆ มีขนเป็ดที่ถูกผ่านกรรมวิธีพิเศษ เพื่อทำให้โดนน้ำได้ไม่เสียหาย โดยเฉพาะขนเป็ดของแบรนด์ที่ทำเสื้อผ้า Outdoor ส่วนใหญ่ ซึ่งเขาจะให้ซักกับเครื่องซักผ้าปกติเท่านั้นโดยห้ามซักแห้ง

ยี่ห้อเสื้อและผลิตภัณท์ขนเป็ด Outdoor ที่มีชื่อเสียง
  • Marmot
  • Montbell
  • Patagonia
  • Rab
  • Western Mountaineering
  • Montane
  • Mountain Equipment


Nutt
www.thaihiker.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น