วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รีวิว กางเกง Smartwool Baselayer NTS MID bottoms


ไปเที่ยวหนาวๆ ถ้าได้ใส่ Baselayer จะช่วยให้อุ่นขึ้นได้มาก บทความนี้ผมจะมาแนะนำกางเกง Base Layer ขนแกะ ของ Smartwool รุ่น NTS Midweight สำหรับใส่อากาศหนาว  แบบ Lightweight ก็มี ผ้าจะบางกว่าใส่ในที่อากาศอุ่นหน่อย ส่วน NTS มาจากคำว่า Next to Skin หมายถึงทรงรัดติดกับผิว
ทำไมต้องขนแกะ? เคยอ่านมาว่า wool หรือขนแกะมีความพิเศษตรงที่ อากาศหนาวก็กักเก็บความร้อนได้ดี อากาศร้อนก็ใส่ไม่ร้อน แถมต้านทานแบคทีเรียได้โดยธรรมชาติ ใส่นานๆยังไม่มีกลิ่นอีกด้วย เห็นขอดีเยอะแบบนี้ จึงอยากลองแม้ราคาจะแพงกว่า Baselayer ใยสังเคราะห์ทั่วไป เกือบเท่าตัว


ภาพรวมภายนอก

การตัดเย็บดูดีครับ เป็น base layer ที่ดูดีมีชาติตระกูล(ขนาดนั้นเลย?) จับเนื้อผ้ารู้สึกได้เลยว่านุ่มละเอียด ช่วงระหว่างขาเขาเย็บมาแบบเป็น gusseted crotch เหมือนพวกกางเกง tactical หรือ outdoors ทั่วไป คือเป็นผ้าสี่เหลี่ยมแปะตรงกลาง แทนการเย็บชนตรงกลาง ทำให้ดูทนทาน ตรงเป้ายังมีช่องให้ช้างน้อยได้โผล่มาหายใจด้วย

ความรู้สึก

ผมรู้สึกคันๆทีแรกที่ได้ใส่ ไม่ได้มากแต่ก็ไม่ถึงกับนุ่มอย่างที่คิดไว้ ใส่ไปสักพักแล้วก็รู้สึกชิน กลับชอบตรงที่มันอุ่นดีมาก ลองใส่ที่อุณภูมิ 30 องศา ใส่แล้วก็ไม่รู้สึกว่าร้อน มีความรู้สึกว่ามันระบายอากาศได้ดี ใส่เป็นเล็กกิ้งตัวเดียวได้เลย ถ้าไม่ติดตรงเป้าที่ทำไว้ให้ช้างน้อย เลยดูเป็นกางเกงในไป เรื่อง fitting ก็พอดี มีช่วงก้นที่รู้สึกว่าใหญ่ (หรือก้นเรามันแฟ่บไม่รู้) 
ส่วนสำคัญอีกอย่างคือเรื่องกลิ่น ลองใส่นอนติดๆกันหลายวัน เทียบกับบ็อกเซอร์ผ้าฝ้าย ขนแกะตัวนี้ไม่มีกลิ่นเลย ถือว่าสมคำโฆษณาจริงๆ ยังไม่มีโอกาสเอาไปใช้ออกทริป แต่คิดว่าน่าจะมีประโยชน์มากครับ

 

สรุป

ผมประทับใจ เรื่องดีไซน์การตัดเย็บของ Smartwool ที่ส่วนตัวผมว่าดูดีกว่าคู่แข่งบางราย ส่วนอื่นๆจะเป็นธรรมชาติของขนแกะ merino ซึ่งไม่จำเป็นต้องยี่ห้อนี้ก็ได้ ทั้ง ความนุ่ม เรื่องกลิ่นที่ไม่มี และความสามารถเรื่องจัดการอุณภูมิ ร้อนก็ไม่ร้อน หนาวก็ไม่หนาว คะแนนด้านนี้กินขาดใยสังเคราะห์ไปเลย ทริปหนาวต่อไปของผมต้องมีตัวนี้ติดตัวด้วยแน่นอน

รู้จัก Smartwool เล็กน้อย

Smartwool บ้านเราอาจไม่เคยได้ยินชื่อ แต่ถ้าเป็น Timberland อาจจะรู้จักหรือเคยได้ยินกันมาบ้าง Smartwool เป็นบริษัทในเครือของ Timberland (โดน Timberland ซื้อกิจการ) ทำผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเสื้อผ้าขนแกะ เน้นตลาดในกลุ่ม outdoor มีชื่อเสียงในอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ถุงเท้าและ Baselayer

eVent DVL



ในกลางปี 2012 บริษัท GE (General Electric) เจ้าของสิทธิบัตรผ้ากันน้ำระบายอากาศ ชื่อ eVent  ได้ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ของตนเองชื่อว่า eVent DVL (Direct Venting Lite) ออกมาต่อกรกับคู่แข่ง GORE-TEX Active Shell และ Polartec Neoshell ซึ่งเป็นรุ่นที่เน้น Breathability สูง

GE ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพของผ้าแบบ 2.5 layer ซึ่งนิยมใช้ในเสื้อกันฝนน้ำหนักเบา  ผ้าแบบ 2.5 layer ประกอบไปด้วย 1 ชั้นนอก หรือ face fabric 2 ชั้นเส้นใยกันน้ำระบายอากาศ ชั้นสุดท้ายจะเป็นสารเคลือบป้องกันชั้นกันน้ำระบายอากาศอีกที หรือเรียกชั้นนี้ว่า half layer

เสื้อกันน้ำระบายอากาศแบบมาตรฐานจะมี 3 layer ซึ่งเน้นความทนทานมากกว่า โดย layer ที่3 จะใช้เส้นใยตาข่าย เป็นผืนเส้นใยจริงๆ  ประกบกับชั้นนอกเหมือนแซนวิส โดยมีชั้นกันน้ำระบายอากาศอยู่ตรงกลาง

eVent DVL ป้องกันชั้นกันน้ำระบายอากาศ โดยใช้วิธีพิมพ์แผ่นป้องกัน ซึ่งมีโครงสร้างเป็นตาข่ายสามเหลี่ยมต่อกัน พิมพ์ไปที่ชั้นกันน้ำระบายอากาศโดยตรง วิธีนี้จะทำให้ชั้นกันน้ำระบายอากาศมีความทนทานในขณะที่ยังมีช่องว่างมากพอให้อากาศไหลผ่านได้ ความร้อนและเหงื่อจะผ่านช่องว่างเหล่านี้โดยตรง ไม่ต้องผ่านสารเคลือบพลาสติกแบบ 2.5 layer ทั่วไป หรือ ใยตาข่ายแบบ 3 layer ซึ่ง eVent DVL จะใช้ layer ชั้นนอกที่มีน้ำหนักเบาด้วยเท่านั้น

ยี่ห้อที่นำ eVent DVL ไปใช้ เช่น  Westcomb, Rab

Westcomb Focus LT Hoody หนัก 195 กรัม

วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

Polartec NeoShell ผ้ากันน้ำระบายอากาศน้องใหม่ จะมาสะเทือนยักษ์ใหญ่ GORE-TEX


การแข่งขันที่สำคัญในอุตสาหกรรม Outdoor คือการผลิตสิ่งทอที่กันน้ำและระบายอากาศได้
สองเจ้ายักษ์ใหญ่ในวงการคือ GORE-TEX และ eVent ที่มีมานานมากกว่าสิบปี, ในขณะเดียวกันก็มีผู้กล้าท้าชนรายใหม่เข้ามา นั่นคือ Polartec ซึ่งในปี 2010 ได้ออกสิ่งทอกันน้ำระบายอากาศของตัวเอง มีชื่อว่า NeoShell โดยอ้างว่าเป็นสิ่งทอกันน้ำที่ระบายอากาศได้ดีที่สุดในท้องตลาด

Polartec แต่เดิมมีชื่อในการเป็นผู้ผลิตสิ่งทอกันหนาว ให้แบรนด์ outdoor อื่นๆ เอาไปทำเสื้อ fleece, softshells ฯลฯ ซึ่ง Polartec ยังไม่เคยนำเสนอสิ่งทอสำหรับกันน้ำ+ระบายอากาศของตัวเองมาก่อน



จุดขายสำคัญของ NeoShell อยู่ที่การระบายอากาศ ใยกันน้ำของ NeoShell ผลิตจาก Polyurethane ที่ได้รับการออกแบบใหม่ โดยจะมีพื้นที่ที่เป็นรูมากกว่า ทำให้อากาศไหลผ่านได้ดี และไม่เหมือน Hard shell แบบเดิมๆ ตรงที่ไม่ต้องอาศัยความร้อนจากร่างกายก็สามารถระบายอากาศได้ เขาโฆษณาว่าแบบนั้น แต่ก็ยังมีคำถามในเรื่องของประสิทธิภาพในการกันน้ำ ซึ่งว่ากันว่าต่ำ ประมาณ ~10,000 mm ในขณะที่ GORE-TEX Active Shell เป็นรุ่นที่ระบายอากาศดีที่สุดของ GORE-TEX กันน้ำที่ 18,000mm และความทนทานของ NeoShell ยังไม่มีการพิสูจน์ที่แน่ชัด

นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรม outdoor จัดประเภทให้ Neoshell ให้อยู่ในระหว่าง Hard shell กับ Soft shell (Marmot ให้นิยามว่าเป็น Heavy Duty Softshell) วิเคราะห์กันว่า Neoshell ไม่ได้ออกมาทำตลาดแข่งกับ Gore Tex รุ่นกันน้ำสูงอย่าง Pro Shell หรือ Performance Shell โดยตรง แต่จะเป็นคู่แข่งกับ Gore tex Active Shell ที่เน้นเรื่องการระบายอากาศ โดยเน้นตลาดในกลุ่มผู้ที่ยอมแลกอัตราการกันน้ำกับการระบายอากาศที่สูง หรือนักกีฬาที่ต้องการความยืดหยุ่นของผ้า เช่นพวกนักปีนหน้าผาที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกายมาก

ตามรีวิวด้านการใช้งานเสื้อแจ็คเก็ตที่ทำด้วย NeoShell พบว่า มีผิวสัมผัสที่นุ่ม ยืดหยุ่นได้ เสียงไม่ดังกรอบแกรบเหมือน Hard shell ทั่วไป กันลมกันน้ำได้ดีกว่า Soft shell แต่ไม่ถึงขนาด Hard shell สิ่งสำคัญ คือแทบทั้งหมดมีความประทับใจในด้านประสิทธิภาพในการระบายอากาศที่ดีมาก

มีพาร์ทเนอร์หลายยี่ห้อที่ทำเสื้อแจ็กเก็ตด้วย NeoShell เช่น Rab Stretch Neo, Wescomb Apoc, Marmot Zion ฯลฯ

วิดีโอรีวิว Rab Stretch NeoShell Jacket

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่
http://www.polartec.com/shelter/polartec-neoshell/
http://www.trailspace.com/articles/2010/11/30/polartec-neoshell.html
http://www.ukclimbing.com/gear/review.php?id=4487

บทความเขียนโดย
ณัฐ Nutt
www.thaihikergear.com

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เรื่องของกางเกงเดินป่า Hiking Pants


กางเกงเดินป่า มีหลายชนิดแบ่งตามเส้นใยหรือวัสดุที่ใช้ทำ การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับกิจกรรมและภูมิอากาศ ซึ่งคุณสมบัติของกางเกงเดินป่าที่ดีทั่วไป คือเบาและแห้งไว ถ้าเดินป่าแบบไม่ลุยมากจะใช้กางเกงผ้าฝ้ายชนิด(บาง)หรือผ้าลินินก็ได้ แต่ถ้าลุยหนักๆวัสดุประเภทใยสังเคราห์จะเหมาะกว่า ใยสังเคราะห์จะไม่นิ่มหรือใส่สบายเท่าฝ้าย แต่จะแห้งไวและทนทานต่อแรงเสียดสีหรือการขูดได้ดีกว่า และเมื่อโดนน้ำ ฝ้ายจะอมน้ำ ทำให้หนักและแห้งช้า ตัวอย่างเช่น กางเกงยีนส์ หรือกางเกงที่ทำจากฝ้ายหนาๆ ไม่เหมาะกับการเดินป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในป่าเขตร้อนแบบบ้านเรา

ประเภทของกางเกงเดินป่า
  • กางเกงเดินป่าผ้าฝ้ายล้วน ดูดี หาง่าย ใส่สบาย ระบายอากาศดี แต่ถ้าจะทำให้ทนทานเหมาะกับกิจกรรม outdoor เนื้อผ้าจะหนาและน้ำหนักมาก ไม่เหมาะกับการนำติดตัวเวลาเดินไกล หรือใส่ในที่สภาพอากาศเปียกชื้น เพราะแห้งช้า
Mountain Khakis M'Original Pants
ผ้า cotton 100%

  • กางเกงเดินป่าผ้าฝ้ายผสมใยสังเคราะห์ กางเกงแบบนี้จะผสมใยสังเคราะห์เข้าไปด้วยในอัตราส่วนสูง เพื่อความบางเบาและทนทาน อย่างเช่น กางเกงคอมแบททหารทั้งแบบปกติและแบบเขตร้อน(เนื้อผ้าบางกว่า)
Fjallareven Greenland trousers ใช้วัสดุที่เรียกว่า g1000
ฝ้าย 35% ใยสังเคราะห์  65%
5.11 Taclite Pro กางเกงแทคติคอลสุดฮิต ผสมใยสังเคราะห์ 65% บางเบากว่ารุ่นธรรมดา


  • กางเกงเดินป่าใยสังเคราะห์ล้วน ผมขอแบ่งเป็นกางเกงผ้าแห้งไวและแบบ Softshell 
กางเกงผ้าแห้งไว กางเกงแบบนี้เป็นที่นิยมมากในหมู่ Backpacker เพราะพับเก็บได้เล็กและมีน้ำหนักเบา วัสดุจะเป็นไนลอนที่บางแต่มีความทนทาน เช่น Supplex ซึ่งเส้นใยจะมีความละเอียดกว่าไนลอนทั่วไป ใส่สบาย มีน้ำหนักเบาและแห้งไว  ส่วนใหญ่จะทำทรง Loose fit หรือทรงใหญ่ เพื่อให้เคลื่อนไหวร่างกายได้สะดวก รุ่นที่ทรงเข้ารูปหน่อยอาจจะผสมเส้นใยที่มีความยืดหยุ่นเช่น Spandex ด้วย กางเกงผ้าแห้งไวนิยมทำแบบต่อขาหรือถอดทำเป็นขาสั้นได้ (Convertible) กางเกงแบบนี้ผมว่าเหมาะกับเดินป่าเขตร้อนแบบบ้านเราอย่างมาก
Outdoor Research Equinox Convertible


กางเกง Softshell เนื้อผ้าจะเป็นใยสังเคราะห์ที่ยืดหยุ่น สามารถกันน้ำ(หิมะ)และลมได้  (เช่น Schoeller Dryskin) เหมาะกับอากาศหนาว  มีแบบทรงเข้ารูป นิยมในหมู่นักปีนเขา กางเกงแบบนี้มีความทนทานแต่ราคาสูง
Mammut Courmayeu
Arc'teryx Gamma Guide Softshell

Nutt
www.thaihiker.com