วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่องของแผ่นรองนอน Camping Mattress



แผ่นรองนอน (camping pad) แผ่นรองนอนนักเดินป่าหลายคนมองว่ามันเป็นสิ่งที่ luxury หรือหรูหราฟุ่มเฟือย แต่จริงๆแล้วมันมีอะไรที่มากกว่าความสบายแต่เพียงอย่างเดียว ผมเคยได้ยินเพื่อนบ่นเวลาไปนอนเต้นท์ว่า นอนในถุงนอนแล้วเย็นหลังหรือข้างบนอุ่นดีแต่หลังเปียก ไม่รู้จะโทษเต้นท์หรือถุงนอนดี จริงๆแล้วปัญหานี้ต่อให้เต้นท์หรือถุงนอนราคาแพงแค่ไหนก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะพื้นเย็นหลังอุ่นมันเกิด condensation เป็นน้ำขึ้นที่ถุงนอน อากาศหนาวๆยิ่งทรมานล่ะทีนี้ ในบ้านเรายังไม่หนาวเท่าไร ถ้าต่างประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่ทีเดียว และยังมีงานวิจัยระบุว่าความร้อนของร่างกายจะสูญเสียไปกับพื้นมากกว่าอากาศเป็นสามเท่าเลยทีเดียว ซึ่งแผ่นรองนอนจะช่วยแก้ปัญหาได้ แผ่นรองนอนจะเป็นตัวกั้นระหว่างพื้นกับถุงนอน กักเก็บความอบอุ่นของร่างกายเราไว้ไม่ให้สูญเสียไปกับพื้นเย็นๆ

ประเภทของแผ่นรองนอน
  • แผ่นโฟม (Foam pad) ข้อดีของแผ่นรองนอนแบบโฟมคือเบา ใช้งานง่าย ทนทาน ราคาถูก แต่ใหญ่มากเทอะทะ นอนไม่สบาย บ้านเราเห็นมีขายแบบนี้มาก ที่เป็นโฟมทั่วไป กับแบบโฟมอย่างดี อย่างของยี่ห้อ Therm a rest รุ่น z-lite เป็นที่นิยมมากใน usa ถ้าใครนิยมความเรียบง่ายไม่ต้องดูแลรักษามาก ไม่เน้นเรื่องขนาดและความสบายที่ไม่มาก แผ่นรองนอนแบบโฟมเป็นตัวเลือกที่ดี
    แผ่นรองนอนโฟมThermarest z-lite

  • พองลมเองได้ (Self-inflating pad) ข้อดีของแผ่นรองนอนแบบพองลมเองได้คือนอนสบายมาก ประสิทธิภาพดี แต่ข้อเสียคือมีน้ำหนักมาก ม้วนเก็บแล้วยังมีขนาดใหญ่แม้จะเล็กกว่าแบบโฟม การปูนอนก็ต้องตรวจดูพื้นที่ที่จะวางให้ดีเพราะถ้าเกิดมีอะไรทิ่มรั่วขึ้นมาก็จบกัน แผ่นรองนอนแบบนี้หลายรุ่นส่วนใหญ่เหมาะไว้ใส่รถไปแคมป์ปิ้งมากกว่าที่จะใส่เป้เดินแบบ backpacking  มีบางรุ่นของ Therm-a-rest เช่น prolite ที่พอใส่เป้ได้โดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระมากมาย ทั้งนี้เพื่อลดขนาดและน้ำหนักเขาจะทำแบบครึ่งตัวด้วย คือยาวเฉพาะส่วนที่ต้องเน้นความอบอุ่นแค่ช่วงหัวกับหลังเท่านั้น ปล่อยขาไว้ให้เราหาอย่างอื่นมารองแทน T_T
    ขนาดแผ่นรองนอนแบบ self inflating ของ Therm-a-rest
    แผ่นรองนอนแบบพองลมเองต้องอาศัยพื้นที่ในการเก็บรักษา ต้องหาที่เก็บโดยกางไว้ตลอดเวลา จะออกทริปถึงค่อยม้วนใส่เป้ เพราะโฟมด้านในถ้าม้วนเก็บนานๆจะพองลมเองได้ยาก  ผมมีประสบการณ์กับแผ่นรองนอนแบบนี้ คือมันพองลมเองได้ก็จริงแต่เราก็ต้องเป่าเพิ่มเข้าไปอยู่ดี และรู้สึกว่าไม่ค่อยสะดวกเท่าไรเวลาม้วนเก็บ เพราะต้องรีดลมกันสักพักกว่าจะได้ขนาด
    Therm-a-rest Prolite ขนาด regular น้ำหนัก 460 กรัม
วิดีโอนี้เขาใช้แบบพองลมเองครึ่งตัว ประกอบกับแบบโฟม
  • ใส่ลมเอง (Air pad) แผ่นรองนอนราคาแพงชนิดนี้เรียกว่าเป็นอุดมคติของ backpacker เลยก็ว่าได้ เพราะคุณสมบัติที่พับเก็บได้เล็ก น้ำหนักเบา นอนสบาย แผ่นรองนอนแบบนี้อาศัยลมเป็นหลัก ภายในจะยัดไว้ด้วยใยสังเคราะห์หรือขนเป็ด-ห่าน เพื่อกักเก็บความร้อนและไม่ให้รู้สึกยวบยาบจนเกินไป การใช้ผู้ใช้ต้องเติมลมเอง ถึงแม้จะใช้วัสดุที่ต้านทานต่อการเจาะ (puncture resistant) แต่ก็ต้องระวังของแข็งของมีคม เช่นเดียวกับแบบ self-inflating
    Exped SynMat UL 7 Air Pad ขนาด M น้ำหนัก 450 กรัม
     

Nutt
ThaiHiker.com

วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ลายพราง MTP และกางเกง British Army MTP Gore-Tex


วันนี้ได้รับพัสดุที่ซื้อมาเป็นกางเกง Gore Tex กันน้ำลายพราง MTP เลยจะเขียนเรื่องลายพราง MTP และพรีวิวกางเกงนิดหน่อยครับ

ที่มาของลายพราง MTP (Multi-Terrain Pattern)
    ว่ากันว่าทหารอังกฤษที่ปฏิบัติหน้าที่ในอัฟกานิสถานช่วงก่อนปี 2010 หรือก่อนที่ลายพราง MTP นี้จะแจกจ่าย มีปัญหาในเรื่องของลายพรางที่ต้องใช้ในภูมิประเทศที่หลากหลายผสมกัน อย่างจังหวัด Helmand ที่มีพื้นที่ทะเลทรายและพื้นที่สีเขียวที่ชาวบ้านทำการเกษตรผสมกันอยู่ ทหารอังกฤษตอนนั้นมีลายพราง DPM (Disruptive Pattern Material) ซึ่งมี 2 สีให้เลือกคือ  สีทะเลทรายกับสีเขียว ลายพรางทั้งสองสีทำหน้าที่ได้ดีเฉพาะภูมิประเทศที่มีสีเดียวกับสีของมัน เมื่อต้องข้ามภูมิประเทศที่หลากหลาย เขียวบ้างทะเลทรายบ้างในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ถ้าสีใดสีหนึ่งไปอยู่ผิดที่มันจะตัดกับสภาพแวดล้อมทันที ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ทหารจะเปลี่ยนชุดกันอยู่ตลอดในสนามรบ พวกแนวหลังจึงต้องค้นหาลายพรางที่จะเหมาะกับภูมิประเทศที่ "mix" กันแบบนี้ เขาทดสอบกัน จนได้ลาย Multicam ของบริษัทอเมริกัน Crye Precision ซึ่งได้คะแนนสูงสุดและได้รับคัดเลือกเป็นแม่แบบ  ดังนั้นลายพราง MTP จึงใช้สีและสัดส่วนของสีที่เหมือนกับลายพราง multicam ต่างกันที่ MTP จะใช้แพทเทิรนลายแปรงปัดแบบพราง DPM ของเดิมเพื่อคงเอกลักษณ์ความเป็นอังกฤษไว้และไม่อนุญาติให้ทำสินค้าที่ใช้ลายพราง MTP ขายในเชิงพาณิชย์ (กางเกงผมเป็นสินค้า "surplus" ของทหาร) ทางการอังกฤษจะเปลี่ยนลายพราง DPM เขียว เป็น MTP ทั้งหมดภายในปี 2016 ด้วย

File:Brtish dpm2.jpg
ลายพราง DPM สีเขียวลายพราง DPM ทะเลทราย

http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/d/de/British_Armed_Forces_Multi_Terrain_Pattern_camouflage.jpg/250px-British_Armed_Forces_Multi_Terrain_Pattern_camouflage.jpg
MTPMulticam




ที่นี่ว่าด้วยเรื่องกางเกงที่ซื้อมา  กางเกงตัวนี้เป็นกางเกง Gore Tex กันน้ำ  น้ำหนักเบา 350 กรัม (size s) ออกแบบมาเป็นกางเกงชั้นนอกใช้สวมทับกางเกงคอมแบทอีกที ทรงเลยดูใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยและไม่มีกระเป๋ากางเกง ที่ผมชอบคือมันมีซิปสองด้านยาวตลอดช่วงขา ซิปด้านล่างรูดเปิดได้ทำให้สะดวกต่อการสวมโดยไม่ต้องถอดรองเท้าออกก่อน ซิปช่วงบนที่ติดกับเอวทำให้ล้วงเข้ากระเป๋ากางเกงด้านในได้ ถ้าใครมีกางเกง Gore Tex ของ us army จะเห็นว่าเขาทำเป็นช่องไว้ล้วงเข้าด้านในโดยมีเวลโครหรือตีนตุ๊กแกปิดไว้ ซึ่งผมว่าแบบเป็นซิปสะดวกกว่ามาก วัสดุก็คล้ายๆกับของ us แต่งานเรียบร้อยดีกว่า ตัวนี้ผลิตที่ไหนไม่บอกไว้ แต่คิดเองว่าน่าจะเป็นประเทศในแถบ EU ไม่ก็ China ไปเลย สำหรับการใช้งานจะใช้ตอนไหน? ถ้าไปต่างประเทศไว้ลุยหิมะแทนกางเกง snow หรือในบ้านเราใช้คู่กับแจ็กเก็ตเอามาเดินป่าลุยฝนแทนปันโจพลาสติกก็ได้ครับ
เพิ่มเติม ถึงจะเป็น Goretex หายใจได้ แต่ยังไงมันก็หายใจได้ไม่ดีเท่าผ้าธรรมดา สำหรับคนที่ไม่แคร์เรื่องเปียกเท่าไร ใช้กางเกงผ้าร่มกันลมก็ได้ครับ มันจะกันน้ำได้ประมาณนึงไม่มากแต่ระบายอากาศได้ดีกว่า

ซิปกันน้ำยาวตลอดช่วงขา ใช้สะดวกจริง ชอบตรงนี้แหละ