วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562

10 ข้อแนะนำในการเลือกใช้เต็นท์เดินป่า

1.จำนวนคนที่นอน

จำไว้เลยว่า เต็นท์ที่บอกว่านอนสี่คน ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนอนสี่คนได้สบายๆ บางทีอาจจะนอนได้แค่สามหรือสองคนโดยที่รู้สึกไม่อึดอัด เพราะตามสเปคของเต็นท์ที่บอกว่านอนได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้ หมายถึงนอนได้แบบพอดีไม่รวมถึงสัมภาระด้วย ดังนั้นการเลือกซื้อเราควรคำนึงถึงขนาดของพื้นที่ในเต็นท์ และของใช้อะไรที่เราจะไว้ในเต็นท์และสัมภาระอื่นๆจะไว้ในเต็นท์ด้วยหรือไม่ เต็นท์เดินป่าโดยทั่วไปจะมีพื้นที่ข้างเต็นท์ที่ฟลายชีตคลุมลงมาถึง เรียกว่า Vestibule อาจจะใช้พื้นที่ส่วนนี้เก็บสัมภาระ โดยให้เหลือพื้นที่ในเต้นท์ไว้นอนก็ได้ ถ้าเราไม่เผื่อพื้นที่ข้างในเต็นท์ไว้เก็บสัมภาระ

2.สภาพของพื้นที่ที่จะใช้เต็นท์

เต็นท์แต่ละแบบเหมาะกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่แตกต่างกัน
ในต่างประเทศจะแบ่งเต็นท์ตามสภาพภูมิอากาศที่ใช้งานเป็นสามแบบ คือ Summer, 3-Season, Winters
ฤดูในบ้านเราอุณหภูมิจะไม่แตกต่างกันมากเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้นเต็นท์ที่มีขายส่วนมากจะเป็นแบบ 3-Seasons ซึ่งครอบคลุมอากาศหนาวและฝนในบ้านเราด้วย  เต็นท์เดินป่าโดยทั่วไปจะใช้วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและมีพื้นที่ระบายอากาศมาก ถ้าพื้นที่ที่ใช้มีสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยอาจต้องคำนึงเรื่องของการกันฝนและลมรุนแรงด้วย

3.ความง่ายในการใช้งาน

เต็นท์ที่มีฟังก์ชั่นในการใช้งานมากหรือมีขนาดใหญ่อาจสะดวกต่อการอยู่อาศัย แต่หมายความว่าคุณต้องใช้พื้นที่ในการตั้งแคมป์และเวลาที่มากขึ้นในการกางเต็นท์ด้วย ซึ่งคงไม่มีใครอยากเสียเวลาหรือต้องหงุดหงิดในการมาพักผ่อน ดังนั้นการเลือกซื้อต้องคำนึงถึงความง่ายในการใช้งานด้วย อธิบายให้เห็นภาพคือเต็นท์ขนาดที่ไม่เกินสามคน คุณสามารถกางได้ด้วยตัวคนเดียวโดยไม่รู้สึกลำบากนั่นคือมาถูกทางแล้ว อาจถามคนขายให้สาธิตวิธีการกางให้ดู หรือพิมพ์ค้นหารุ่นยี่ห้อเต็นท์ที่สนใจโดยศึกษาจาก Youtube ก็ได้ โดยส่วนใหญ่จะมีคนมารีวิวและสาธิตวิธีการกางให้ดูอยู่แล้ว

4.วัสดุที่ใช้ทำ

วัสดุที่ใช้ทำผ้าเต็นท์ส่วนใหญ่จะเป็น Polyuretain หรือ PU เคลือบกันน้ำ เต้นท์เดินป่าที่น้ำหนักเบาราคาแพงขึ้นมาหน่อยจะเป็น Siliconized Nylon  หรือ Silnylon ข้อดีของวัสดุ PU จะทนกว่า Silnylon เมื่อต้องเจอความร้อนอย่างแสงแดด แต่ Silnylon จะมีสัดส่วนความทนทานต่อการเสียดสีขูดขีดต่อน้ำหนักได้ดีกว่า PU ผมเคยใช้กระเป๋าที่ทำจากวัสดุ Silnylon เห็นได้ชัดว่ามันทนเหลือเชื่อเทียบกับน้ำหนักและความบางของมัน
สำหรับเสาเต็นท์ต้องมีความแข็งแรง  ให้ดีควรเป็นเสาอลูมิเนียมซึ่งจะเหนียวทนทานกว่าวัสดุแบบอื่นแม้แต่คาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งแม้จะแข็งแรงแต่มีความเปราะกว่าอลูมิเนียม ทำให้ต้องดูแลมากกว่า สำหรับผ้าคลุมเต็นท์หรือฟลายชีต ควรให้สามารถคลุมมาได้ครอบคลุมทุกส่วนทั้งหน้าต่างและประตูเพื่อให้ป้องกันฝนได้มากที่สุด
ซิปเป็นอีกส่วนที่ไม่ควรมองข้าม ควรเลือกเต็นท์ที่ที่มีซิปที่มีคุณภาพ รูดปิดเปิดได้ลื่นไหลไม่ติดขัด

5.น้ำหนัก

ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการไปแคมป์ว่าคุณต้องการแบบไหน คาร์แคมป์ หรือเดินป่า ถ้าคาร์แคมป์เรื่องน้ำหนักอาจจะไม่คำนึงเท่าไร แต่ถ้าเดินป่า คุณอาจจะต้องแบกน้ำหนักนั้นด้วยตัวเองไปตลอดเส้นทาง ซึ่งเต็นท์เป็นอุปกรณ์เดินป่าที่เรียกได้ว่ามีน้ำหนักมากที่สุดในเป้ ยิ่งเต็นท์หนักมากสัมภาระของใช้อื่นๆยิ่งจำกัดในการจัดเตรียมมาก ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของคุณว่าจะยอมแบกน้ำหนักที่เท่าไร เต็นท์เดินป่าที่ดีขนาดสองคนโดยทั่วไปน้ำหนักไม่ควรเกินสองกิโลกรัมหรือเฉลี่ยคนละหนึ่งกิโลกรัม มากกว่านั้นถือว่าหนักครับ

6.การระบายอากาศ

ใครมีประสบการณ์นอนเต็นท์มาบ้างคงเคยเห็นน้ำเกาะผืนผ้าใบภายในเต็นท์ตอนดึกๆหรือตอนเช้า ซึ่งเป็นความอึดอัดน่ารำคาญอยู่บ้างที่ไม่อาจเลี่ยงได้ในการนอนเต็นท์ แต่เต็นท์ที่มีการระบายอากาศที่ดีจะลดน้ำเกาะในเต็นท์ได้มากทำให้นอนสบายขึ้น โดยเฉพาะเต็นท์ที่เป็นแบบ Double Wall คือ เป็นตาข่ายในเต็นท์แล้วมีผ้าฟลายชีตคลุมรอบทั้งหมดอีกที ยิ่งถ้ามีพื้นที่เหลือด้านข้างเต็นท์มากๆยิ่งดีครับ

7.คุณลักษณะเพิ่มเติม

นอกเหนือคุณลักษณะของเต็นท์ที่กล่าวมาหัวข้อก่อนหน้า อาจมีคุณลักษณะเพิ่มเติมอื่นๆของเต็นท์ไว้ประกอบการพิจารณา เช่น
  • จำนวนประตู ตัวอย่างเต็นท์นอนสองคนถ้ามีสองประตูในแต่ละด้านทำให้ไม่ต้องข้ามคนใดไปมา
  • จำนวนหน้าต่าง มีผลต่อการระบายอากาศ ระบายอากาศได้ดีจะมีน้ำเกาะภายในเต็นท์น้อย
  • ช่องเก็บของด้านในเต็นท์ สำหรับเก็บของมีค่าหรือที่ต้องหยิบใช้ได้สะดวกเช่นแว่นตา ไฟฉาย ฯลฯ
  • ขนาดของฟลายชีต ครอบคลุมได้ทุกส่วนหรือไม่ ป้องกันแดดกันฝนได้ขนาดไหน
  • ความสามารถในการซื้ออุปกรณ์เสริม ต่อเติมตามความต้องการได้ เช่นต่อพื้นที่เก็บสัมภาระ ต่อกันสาดเพิ่มได้ ฯลฯ

8.พื้น
พื้นเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ต้องพิจารณาเลือกที่วัสดุที่ทนทาน และกันน้ำได้มากที่สุด ปกติพื้นจะเป็นวัสดุที่หนากว่าส่วนอื่นๆของเต็นท์ โดยมากเป็น PU เคลือบกันน้ำโดยจะหนากว่าส่วนฟลายชีต แต่ถึงอย่างนั้นเวลาใช้งานจริงขอแนะนำให้ใช้แผ่นรองพื้นเต็นท์อีกทีด้วย
ผู้ผลิตเต็นท์บางยี่ห้อเช่น MSR จะมีแผ่นรองพื้นเต็นท์เรียกว่า Footprint ให้ซื้อแยกต่างหาก Footprint จะมีขนาดพอดีกับพื้นเต็นท์ช่วยปกป้องพื้นเต็นท์อีกชั้นหนึ่ง หรือจะใช้แผ่นพลาสติกที่หามาเองรองก็ได้ ในต่างประเทศนิยมใช้แผ่นที่เรียกว่า Tyvek ที่ใช้คลุมผนังเวลาก่อสร้างบ้าน นำมาตัดให้ขนาดพอดีกับพื้นเต็นท์ แต่ในบ้านเรายังไม่ค่อยเห็นนัก ข้อดีของมันคือเบา ทนทานและราคาไม่แพง

9.ราคา

ส่วนสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อเต็นท์ เราควรจะต้องจ่ายสักเท่าไรสำหรับเต็นท์ 1 หลัง? ต่างคนมีงบที่แตกต่างกัน แต่จำไว้เลยว่าของทุกอย่างมีราคาของคุณภาพอยู่ เต็นท์ที่ราคาถูกอาจจะราคาแพงถ้าใช้ได้ไม่นาน อีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือสภาพพื่นที่ที่ใช้ ถ้าคุณต้องใช้งานในสภาพแวดล้อมที่มีฝนมีลมแรง คุณต้องยอมลงทุนกับเต็นท์เพื่อไม่ให้ทนทุกข์ยากในภายหลัง
การซื้ออาจจะรอช่วงลดราคา จะเป็นช่วงเปลี่ยน season หรือปลายปี
แนะนำเพิ่มเติมถ้าต้องการเต็นท์สำหรับทริปทั่วๆไป ไม่ได้ไปบุกเบิกหรือ Expedition เดี๋ยวนี้บ้านเรามีเต็นท์จากประเทศจีนเข้ามาทำเลียนแบบฝรั่งได้ใกล้เคียงแต่ราคาถูกกว่ามากเป็นตัวเลือกที่ไม่เลว


10.บริการหลังการขาย

จะทำยังไงถ้าของที่เราซื้อมาแล้วเกิดมีบางอย่างผิดพลาด เอาไปหาคนขายแล้วเขาทำไม่รู้ไม่ชี้ ซื้อเต็นท์ก็เหมือนกัน เต้นท์ราคาถูกพันสองพันพังก็พังไป บางท่านอาจไม่แคร์ แต่ถ้าเป็นเต้นท์ราคาแพงหลักหมื่น สิ่งสำคัญมากกว่าการขายคือบริการหลังการขาย ใครๆก็อยากจะขายของ แต่หลังจากนั้นอาจไม่อยากเห็นหน้ากันอีกแล้ว ดังนั้นให้พิจารณาชื่อเสียงยี่ห้อ การรับประกัน อ่านรีวิว และขอบเขตการรับผิดชอบให้ถี่ถ้วน ผู้ขายที่ดีจะรับผิดชอบสินค้าที่ตัวเองขายอย่างเต็มที่ เช่น เสาหัก เคลือบกันน้ำลอก บางที่เปลี่ยนให้ หรือซ่อมฟรี คิดเงิน ฯลฯ แล้วแต่เงื่อนไข แต่ต้องมีคำตอบ ผมเคยเห็นในฟอรั่มของนักเดินป่าต่างประเทศ มีคนไปโพสว่าเต็นท์ของตัวเองอายุกว่า 5ปี ขาดระหว่างกางในที่ลมแรง บริษัทผู้ผลิตเต็นท์เข้ามาเห็น เขาติดต่อเพื่อขอเปลี่ยนใหม่ให้ทันที คนโพสก็มาโพสขอบคุณ นี่อาจเป็นตัวอย่างที่สุดขั้วไปหน่อย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้ขายที่ยืนหยัดกับสินค้าของตัวเองอย่างเต็มที่ แบบนี้น่าสนับสนุนครับ

วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

Leave No Trace จริยธรรมการเดินป่า


Leave No Trace แปลตรงๆคือ จากไปแบบไม่ทิ้งร่องรอย เป็นหลักปฏิบัติทางจริยธรรมที่เกี่ยวกับการเดินป่าค้างแรมตามแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  เพื่อการอนุรักษ์ และเพื่อความปลอดภัยต่อตนเองและผู้อื่นด้วย Leave No Trace ในต่างประเทศมีการสอนกันเป็นเรื่องเป็นราว มีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ชอบท่องเที่ยวธรรมชาติควรศึกษาไว้ แม้โดยพื้นฐานผู้ที่ชอบเที่ยวแนวนี้จะมีความเป็นนักอนุรักษ์ในตัวอยู่แล้ว แต่อาจยังไม่ทราบต่อแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม

Leave No Trace มีเจ็ดข้อดังนี้

1. Plan Ahead and Prepare การวางแผนและเตรียมตัว

รู้ข้อมูลสถานที่ที่จะไป ข้อจำกัด ข้อห้าม สภาพทางภูมิศาสตร์ เพื่อเตรียมอุปกรณ์ต่างๆได้อย่างเหมาะสม
อาหารต้องเก็บในภาชนะที่มิดชิดปลอดภัย ไม่ให้สัตว์ป่ามากินได้ ถุงหรือภาชนะต่างๆควรเป็นแบบนำมาใช้ซ้ำได้เพื่อเป็นการลดขยะ เช่นซิปล็อค

2. Travel and Camp on Durable Surfaces ท่องเที่ยวและตั้งแค้มบนพื้นที่ทนทาน

พื้นที่ทนทานคือ เส้นทางหรือสถานที่ตั้งแคมป์ที่สถานที่จัดเตรียมไว้ให้ หรือตามธรรมชาติ เช่น พื้นดิน พื้นหิน หญ้าแห้ง
การเดินควรเดินในเส้นทางที่มีอยู่แล้ว ไม่ไปแผ้วถางเปิดทางเอง เช่นเดียวกับการตั้งแคมป์ ควรตั้งในที่ที่จัดเตรียมไว้แล้ว หรือเลือกพื้นที่ที่มีความแข็งแรงมั่นคง ให้เกิดผลกระทบต่อภูมิทรรศน์และระบบนิเวศน์ของพื้นที่น้อยที่สุด จำไว้เสมอว่าพื้นที่ตั้งแคมป์ที่ดีต้องพบเจอตามธรรมชาติ ไม่ไปสร้างขึ้นมาเอง

3. Dispose of Waste Properly ทิ้งสิ่งปฏิกูลอย่างเหมาะสม

ในกรณีแหล่งท่องเที่ยวไม่มีสถานที่ขับถ่ายให้ สิ่งที่ต้องเตรียมไปคือเสียมเล็กๆกับกระดาษทิชชู ขุดหลุมลึกประมาณ 6 นิ้ว เป็นอย่างน้อย และพยายามอยู่ห่างจากแหล่งน้ำไม่ต่ำกว่า 200 เมตร สำหรับเศษอาหารให้เทน้ำทิ้งเอาเฉพาะเศษใส่ถุงขยะขนกลับออกมาด้วย สบู่หรือแชมพูให้ใช้ชนิด ฺBio-Grade เท่านั้น

4. Leave What You Find ปล่อยไป อะไรที่เจอ

อนุรักษ์สภาพเดิมๆไว้ เช่นวัตถุโครงสร้างทางประวัติศาสตร์หรือวัฒนธรรม สิ่งประดิษฐ์ ของเก่า อย่าไปจับ หินต่างๆถ้าหยิบมาให้เอาไปไว้ที่เดิม

5. Minimize Campfire Impact ลดผลกระทบจากการก่อไฟ

พยายามอย่าก่อกองไฟถ้าไม่จำเป็น ทำอาหารให้ใช้เตาเดินป่าขนาดย่อมจะดีกว่า หรือก่อในสถานที่ที่จัดเตรียมไว้ (ถ้ามี) แต่ถ้าจำเป็นต้องก่อไฟเองให้ก่อกองเล็ก ใช้กิ่งไม้แห้งขนาดเล็กที่หักได้และเผาให้เหลือแต่ขี้เถ้า เมื่อขี้เถ้าเย็นแล้วเกลี่ยให้เรียบร้อย

6. Respect Wildlife เคารพชีวิตสัตว์ป่า

สังเกตุสัตว์ป่าอยู่ห่างๆ อย่าไปตามหรือเข้าใกล้ ห้ามให้อาหารสัตว์ป่าเพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายและเปลี่ยนพฤติกรรมของมันตามธรรมชาติ อาหารหรือเสบียงปิดภาชนะให้มิดชิดเรียบร้อยป้องกันสัตว์ป่ามากิน ควบคุมสัตว์เลี้ยงให้ได้หรือทางที่ดีคือไม่นำมาด้วย

7. Be Considerate of Other Visitors คำนึงถึงผู้มาเยือนคนอื่นๆ

ใจเขาใจเรา ให้นึกถึงประสบการณ์ดีๆที่เขาควรจะได้รับจากสถานที่ด้วย
สุภาพกับเพื่อนผู้ร่วมทางคนอื่น ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นในระหว่างเดินหรือที่แคมป์

วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

Ebay Global Shipping Program คืออะไร รีวิวประสบการณ์


วันนี้ผมจะมารีวิวเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเดินป่า แต่อยากเอามาเล่าให้ฟังกันเพราะคิดว่าคงมีประโยชน์กับท่านที่ใช้ Ebay หรือกำลังจะใช้ Ebay ซื้อสินค้า จริงๆผมมีบัญชีอีเบย์ ที่เปิดไว้นานแล้วและนานเช่นกันจะได้ใช้ซื้ออะไร พอเห็น Global Shipping Program (GSP) ครั้งแรกก็งงๆอยู่เหมือนกัน มันคืออะไร? ทำงานอย่างไร? ทำไมแพงจังวะ? พอได้ลองซื้อสินค้าและส่งผ่าน GSP ครั้งแรกเลยอยากจะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง เผื่อบางท่านเห็นค่าส่ง Shipping แล้วมี Import charge อีก ทำไมแพงมากและยังกังวลอยู่เหมือนผมในตอนแรก

Ebay Global Shipping Program คืออะไร

สำหรับผู้ขาย
Global Shipping Program (GSP) เป็นระบบที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ขายสินค้าที่อาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกาที่จะส่งสินค้าออกนอกประเทศและไม่อยากจัดการส่งของเอง GSP มีบริษัท Pitney Bowes เป็นตัวกลางในการจัดการส่งสินค้าไปยังที่อยู่ผู้ซื้อในต่างประเทศ แล้วต่างจากไปรษณีย์ USPS หรือบริษัทขนส่งอื่นเช่น, Fedex ,UPS ฯลฯ ยังไง คือแบบนี้ครับ โดยปกติผู้ขายจะส่งของให้กับลูกค้าโดยตรงผ่านบริษัทขนส่งดังกล่าว แต่ในกรณี GSP เมื่อเราซื้อสินค้า ผู้ขายจะส่งสินค้าของเราไปยังศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท Pitney Bowes ภายในสหรัฐอเมริกาก่อน เรียกว่า Shipping Center (อยู่ใน Erlanger, Kentucky) จากนั้นบริษัท  Pitney Bowes จะเป็นคนจัดการส่งสินค้าต่อไปให้ลูกค้าเอง (บริการแบบนี้เรียกว่า Mail/Package Forwarding ซึ่งเขาจะขนส่งผ่านบริษัทขนส่งอื่นๆอีกที อาจจะเป็น fedex ups ฯลฯ) ในกรณีที่สินค้าศูนย์หาย Pitney Bowes จะเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ถ้าสินค้าถึงมือผู้รับแล้วแต่ต้องการคืนหรือมีปัญหาอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการขนส่งก็ว่ากันระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย

สำหรับผู้ซื้อ
Ebay (Pitney Bowes) จะคำนวณอากรภาษีนำเข้าระหว่างประเทศ ตามประเภทสินค้าของประเทศผู้ซื้อนั้นๆ (ข้อมูลเหล่านี้เปิดเผยระหว่างประเทศ) ออกมาเป็น Import Charge: ที่เราเห็นอยู่ด้านล่างของค่าส่ง Shipping:  โดยปกติเมื่อของมาถึงประเทศปลายทาง สินค้าจะโดนคำนวณภาษีอากรโดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรของประเทศนั้นๆ แล้วบริษัทขนส่งจะมาเรียกเก็บจากผู้ซื้ออีกที ท่านใดมีประสบการณ์คงจะได้ใบเขียวจากไปรษณีย์ไทยแบบนั้นแหละครับ  แต่กรณี GSP นี้ผู้ซื้อจ่าย Import Charge ให้บริษัท Pitney Bowes ล่วงหน้าไปแล้ว บริษัทขนส่งสินค้าจะไปเรียกเก็บ Import Charge ที่บริษัท  Pitney Bowes แทน ผู้ซื้อก็นอนรอรับของที่บ้านอย่างเดียวไม่ต้องจ่ายเพิ่ม หรือลุ้นค่าภาษีอีกแล้ว

ประโยชน์
นอกจากเป็นช่องทางค้ากำไรจาก Import Charge อีเบย์มี GSP เพื่อสนับสนุนผู้ขายในสหรัฐ ที่ต้องการส่งสินค้าออกนอกประเทศแต่ไม่อยากจัดการเอง GSP ช่วยป้องกันปัญหาผู้ซื้อไม่รับสินค้าเมื่อโดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าอัตราสูง และป้องกันกรณีการทำผิดกฏหมาย เช่นผู้ซื้อขอให้ผู้ขายระบุใบแจ้งราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อเลี่ยงภาษี (ทำกันเป็นเรื่องปกติ) และลดปัญหาเรื่องร้องเรียนและปัญหาจุกจิกอื่นๆมากมายจากผู้ซื้อผู้ขายที่ขาดประสบการณ์ Ebay เลยให้มีระบบจัดการเรื่องขนส่งต่างประเทศไปเลย

ประสบการณ์ของผม
สินค้าที่ซื้อผ่าน GSP มา เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่อัตราภาษีนำเข้าไม่สูงเหมือนสินค้าอื่นๆ คือแค่ อากร 1% + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่านั้น เลยตัดสินใจได้ไม่ยาก ถึงแม้ Import Charge: ระบบจะคำนวณสูงกว่าความเป็นจริงแต่ถือว่ายังรับได้ ผมซื้อและจ่ายเงินผ่าน Paypal เรียบร้อย (ระบบจะตัดเงินเราเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือค่าสินค้า+ค่าส่ง ให้คนขาย ส่วนที่สองคือค่า Import Charge ให้ Pitney Bowes) สามสี่วันถัดมา คนขายก็ส่งพัสดุไปยัง Shipping Center ที่ Erlanger คือจะมีอีเมลแจ้งจากอีเบย์ว่าสินค้าถูกส่งแล้ว พร้อมกับ Tracking Number ขึ้นต้นว่า UPAAA ตามด้วยตัวเลขหลายๆตัว ไม่ต้องเอาไป Track ที่ไหนเพราะมัน Track ได้เฉพาะในระบบของอีเบย์เท่านั้น เช็คสถานะเมื่อของถึง Erlanger แล้ว วันสองวันถัดมาสถานะก็บอกว่าส่งพัสดุต่อให้ I-parcel และให้ Tracking Number ของ I-parcel มา ทีแรกก็ไม่รู้จัก นึกว่าจะเป็น FEDEX, UPS อะไรพวกนั้น แต่ไม่เป็นไร เอาล่ะ หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ก็มีคนโทรบอกว่ามาจาก UPS จะเอาพัสดุมาส่ง (รู้ทีหลัง I-Parcel เป็นพันธมิตรกับ UPS) ผมตกลงนัดแนะวันรับพัสดุกับ UPS เรียบร้อย พอถึงวันนัดเขาก็เอาของมาส่งพร้อมกับให้เซ็นชื่อรับ ก็เรียบร้อยได้รับของสมใจและไม่ต้องเสียเงินค่าใช้จ่ายใดๆเพิ่มอีกแล้ว

สรุปประสบการณ์ซื้อของครั้งแรกผ่าน Ebay Global Shipping Program
  • รอของนานเพราะต้องส่งไปที่ Shipping Center ในสหรัฐก่อน
  • พัสดุไม่มีการรีแพ็ค เขาแค่ติดที่อยู่ประเทศไทยทับที่อยู่ Shipping Center บนซองพัสดุเดิมจากที่คนขายส่งมา
  • I-Parcel Tracking มั่วมาก ใช้ไม่ได้เลย บอกว่า out for delivery ทั้งที่ของยังไม่ถึงเมืองไทย
  • ตอนรับพัสดุ ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแล้ว
  • พนักงาน UPS บริการดี

ข้อเสนอแนะ
Import charge จะแพงมากโดยเฉพาะถ้าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แนะนำให้เลือกคนขายที่ส่งแบบไม่ผ่าน Ebay - Global Shipping Program แล้วลุ้นภาษีเองดีกว่า เพราะจากประสบการณ์ ถ้าโดนภาษี ศุลกากรประเมินใจดี ไม่โหดขนาดที่ Ebay คำนวณ หรือถ้าโชคไม่ดีศุลกากรประเมินเกินกว่าที่จ่ายก็เอาหลักฐานใบเสร็จไปขอลุ้นอุทธรณ์ได้ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

รีวิวส้อมไททาเนียม snow peak titanium spork

เป็น backpacker ก็ต้องมีอุปกรณ์ช้อนส้อมติดเป้ด้วย จะจิ้มจะตักได้ครบก็ต้องพกทั้งช้อนและส้อม แต่ทั้งนี้น้ำหนักสแตนเลสไม่ใช่น้อย และถ้าเราต้องการอะไรที่มันง่ายๆไม่อยากพกสองอย่างให้ยุ่งยาก ช้อนที่รวมส้อมไว้ด้วยกันก็ดูเป็นทางเลือก ก่อนหน้าผมเคยใช้เป็นพวกช้อนพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ แต่ความรู้สึกมันไม่ใช่ ตักข้าวก็ไม่ถนัดจิ้มอะไรก็ลำบาก จนได้มารู้จักเจ้าส้อม snow peak นี่แหละครับ

ส้อม Snow Peak ทำจากไททาเนียมมีน้ำหนักเบาแต่แข็งแรง เดิมมีสีไททาเนียมสีเดียว แต่รุ่นหลังๆมีให้เลือกเพิ่มอีกสามสี เขียว ฟ้า ม่วง ของผมเป็นสีม่วงเพราะร้านที่ซื้อเขาเหลืออยู่สีเดียว แต่กระนั้นเราแค่เน้นฟังก์ชั่น ซึ่งซื้อมาแล้วก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ผมว่าเขาออกแบบมาได้ดีมากเลย ความลึกของช้อนที่พอดีและส้อมที่คมใช้งานได้อย่างจริงจัง แต่ข้อเสียของสินค้าคุณภาพดีส่วนใหญ่คือราคา :) ผมซื้อต่างประเทศ 9 USD หรือประมาณ 280 บาท บ้านเราเห็นมีขายอันละเกือบ 500 บาท แพงมาก!!

Snow Peak เป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น เน้นขายอุปกรณ์เครื่องครัวน้ำหนักเบาสำหรับ Backpacker สินค้าประเภทเครื่องครัวทั้งหมด made in japan มีหม้อ ช้อน ส้อม ถ้วยน้ำ วัสดุมีไททาเนียม สแตนเลส และอลูมิเนียม โดยเฉพาะผลิตภันฑ์ไททาเนียมจะมีชื่อเสียงมากได้รับรางวัลมากมาย

วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

รองเท้าเดินป่า

รองเท้าเป็นสิ่งสำคัญมาก อยู่ในป่าในเขาถ้าเท้าเกิดบาดเจ็บขึ้นมาเป็นหมดสนุกแน่ๆ หลายคนบอกว่าเท้าคือชีวิตกันเลยทีเดียว รองเท้าเดินป่าจึงต้องทนทานใส่สบายและปกป้องเท้าเราได้ดี ในบทความนี้จะนำเสนอข้อมูลของรองเท้าเดินป่าเพื่อผู้สนใจและเป็นข้อมูลพื้นฐานในการเลือกซื้อรองเท้าที่เหมาะสมต่อไปครับ รองเท้าที่ภาษาอังกฤษว่า Backpacking, trekking หรือ hiking boots ในบทความนี้ขอเรียกรวมเป็นรองเท้าเดินป่านะครับ

ประเภทรองเท้าเดินป่าแบ่งตามการใช้งาน


  • ชนิดเบา  (Lightweight hiking boot)


ออกแบบมาสำหรับการเดินแบบทริปสั้นๆ ที่ไม่มีสัมภาระหนัก รองเท้าประเภทนี้มีทั้งแบบข้อเตี้ย(Low-Cut) และหุ้มข้อ(Mid-Cut) ลักษณะจะคล้ายๆรองเท้ากีฬาทั่วไปแต่พื้นจะแข็งและมีความทนทานกว่า ข้อดีของรองเท้าแบบนี้คือเบา มีความคล่องตัว ระบายอากาศดี แต่ถ้าคุณต้องแบกเป้หนักเทรคกิ้งไกลในภูมิประเทศโหด รองเท้าแบบนี้จะไม่เหมาะ เพราะ support ข้อเท้าได้น้อย และความทนทานจะน้อยกว่ารองเท้าเดินป่าประเภทอื่น


  • รองเท้าแบ็คแพ็คกิ้ง Backpacking boot หรือ Mid-weight hiking boot


รองเท้าแบบนี้ออกแบบมา เพื่อรองรับน้ำหนักสัมภาระด้วย จะเป็นแบบหุ้มข้อ Mid-cut หรือ High-cut เพื่อกระจายโหลดและปกป้องข้อเท้า พื้นแข็งหนา มีความทนทานกว่าแบบชนิดเบา ถ้าต้องเดินไกลและแบกสัมภาระสัก 8 kg หรือมากกว่านั้น ผมแนะนำรองเท้าชนิดนี้ครับ

  • รองเท้าบูทปีนเขา (Mountaineering Boots)


ใช้สำหรับปีนภูเขาสูง>3000m หรือพื้นที่หนาวเย็นจัดๆ (บ้านเราไม่ต้องใช้ชนิดนี้แน่นอน) มีทั้งแบบที่ทำไว้ปีนภูเขาน้ำแข็งโดยเฉพาะ หรือหน้าตาแบบ Backpacking ที่เพิ่มวัสดุป้องกันเท้า รองเท้าประเภทนี้จะเป็นแบบหุ้มข้อสูง (High-cut) ทั้งหมด ออกแบบมาไว้เพื่อเดินลุย off-trail โดยแท้ สามารถรับน้ำหนักได้มากและมีความมั่นคงทนทานมากกว่าทุกแบบ ภายในบุกันหนาวหรือ Insulation และรองรับ crampon สำหรับเดินบนน้ำแข็งด้วย


ความสูงของรองเท้า

 

  • ข้อเตี้ย low cut

รองเท้าวิ่งหรือรองเท้าเดินป่า light weight จะใช้แบบนี้เป็นส่วนใหญ่เพราะเบา ถอดเข้าออกง่าย สามารถเคลื่อนไหวเท้าได้อิสระมากกว่าแบบอื่น แต่ทั้งนี้ถ้าเราแบกน้ำหนักมากอาจเกิดข้อเท้าพลิกบาดเจ็บได้ง่ายเช่นกัน รองเท้าแบบนี้เหมาะกับคนที่เดินท่องเที่ยวทั่วๆไปในเมือง หรือแบกเป้ day pack เดินป่าเส้นทางง่าย ระยะสั้นๆ

  • หุ้มข้อ Mid cut

ส่วนบนจะหุ้มข้อเท้าโดยรอบไว้พอดี เหมาะกับการเดินป่าที่แบกน้ำหนักกลางๆเดินหลายวัน เดินป่าบ้านเราถ้าแบกสัมภาระเองใช้รองเท้าแบบ mid cut ก็ดีครับ

  • หุ้มข้อสูง High cut

เพิ่มสมดุลและซัพพอร์ตข้อเท้ามากกว่าทุกแบบ เหมาะกับ คนที่แบกเป้น้ำหนัก > 18 กิโลกรัม เดินระยะทางไกลเป็นประจำหรือเดินเส้นทางแบบ off-trail รองเท้าคอมแบททหารก็จะเป็นทรงนี้

 

วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าเดินป่า

 

  • หนัง full grain

เป็นวัสดุที่สวยงามและทนทานมากที่สุด กันน้ำได้ดี แต่มีน้ำหนักมากและระบายอากาศได้ไม่ดีนัก หนัง full grain นิยมใช้ทำรองเท้า backpacking ราคาแพง หรือรองเท้า mountaineering

  • หนัง Nubuck

บ้านเราเรียกหนังกลับ เป็นหนังคุณภาพรองจาก full grain ผ่านกรรมวิธีขัดผิวด้านนอกคล้ายกับหนังนิ่มหรือ suede (แต่ suede จะขัดผิวด้านใน) หนัง nubuck มีความทนทานสูงแต่มีราคาแพงน้อยกว่า full grain

  • วัสดุใยสังเคราะห์

วัสดุชนิดนี้แบ่งย่อยได้อีกหลายชนิดตามคุณภาพของเส้นใย ซึ่งคุณสมบัติโดยทั่วไปๆจะมีความเบา แห้งเร็ว ระบายอากาศดี แต่การกันน้ำและความทนทานจะต่ำกว่าวัสดุที่เป็นหนัง รองเท้าเดินป่าส่วนใหญ่ โดยเฉพาะแบบ light weight จะนิยมใช้วัสดุใยสังเคราะห์ผสมกับหนัง nu buck เพื่อให้รองเท้าทนทานมากขึ้น

  • วัสดุกันน้ำ

เช่น Gore-Tex, Event จะบุภายในรองเท้าเพื่อกันน้ำเมื่อต้องลุยหิมะหรือลำธาร รองเท้าที่ใช้เดินในพื้นที่หิมะถ้าไม่ใช่บูทยางมีความจำเป็นต้องบุชั้นกันน้ำด้านใน รองเท้าที่บุกันน้ำความเห็นส่วนตัว ผมว่าช่วยให้เดินสะดวกขึ้นมากแม้ไม่ใช่พื้นที่หนาวเย็น อย่างการเดินป่าหน้าฝนในบ้านเราจะต้องเดินลุยน้ำหรือโคลนระดับประมาณไม่เกินข้อเท้าเป็นส่วนมาก มีบางเส้นทางที่ต้องเดินลุยน้ำถึงหน้าแข้งหรือสูงกว่านั้น(ซึ่งมีไม่บ่อยนัก) ผมจะถอดแล้วใช้รองเท้าแตะที่เตรียมมาเดินลุยน้ำแทน บางคนอาจบอกว่าถ้างั้นรองเท้ากันน้ำไม่มีความจำเป็น อันนี้ก็แล้วแต่สภาพเส้นทางและสไตล์ของแต่ละคนครับ



พื้นรองเท้า Soles


  • Insole

หรือ foot bed เป็นพื้นด้านในที่สัมผัสกับเท้า ทำจากโฟมนุ่มสามารถถอดออกได้ insole ที่ติดมากับรองเท้าถ้าเราไม่ชอบหรือขาดเปื่อย สามารถซื้อยี่ห้ออื่นมาใส่เปลี่ยนเองได้

  • Midsole

เป็นส่วนที่ซับแรงกระแทก วัสดุมีสองแบบหลักคือ Ethyl Vinyl Acetate (EVA)และ Polyurethane (PU) อย่างแรกคือ EVA เป็นวัสดุประเภทเดียวกับที่ทำรองเท้าวิ่ง จะนิ่มและเบานิยมใช้กับรองเท้าเดินป่าประเภท light weight  ซึ่งจะมีอายุการใช้งานประมาณหกเดือนถ้าใช้งานหนักตลอด ส่วน PU จะมีความหนาแน่นและทนทานมากกว่า นิยมใช้กับรองเท้า backpacking, mountaineering

  • Outsole

เป็นยางด้านนอกที่จะสัมผัสกับพื้น Outsole ของรองเท้าเดินป่าจะมีความแข็งกว่ารองเท้าวิ่งทั่วไป  รองเท้าเดินป่าหลายยี่ห้อเช่น The North Face, Asolo, Zamberlan ฯลฯ ใช้วัสดุจากบริษัท Vibram ที่ผลิตพื้นยางโดยเฉพาะ หรือยี่ห้อ keen ใช้เทคโนโลยีของตัวเอง โดยใช้คาร์บอนผสมทำให้พื้นรองเท้าแข็งแรงมาก ลายดอกยางจะแตกต่างกันไปตามประเภทรองเท้า ดอกยางรองเท้า mountaineering จะมีความลึกเพื่อเพิ่มการยึดเกาะบนผิวทางที่ไม่สม่ำเสมอ ส่วนดอกยางตื้นจะใช้กับรองเท้า trail-running หรือ light weight hiking ที่ต้องการความยืดหยุ่นมากกว่า

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2556

10 เหตุผลที่ควรใช้ไม้เท้าเดินป่า


การใช้ไม้เท้าเดินป่าหรือ Trekking Poles บางคนว่าไม่จำเป็น แต่ผมว่ามีไว้ก็ดี เพราะมันช่วยถนอมเข่าของเรา และสำหรับผู้ที่แบกสัมภาระหนักๆหรือเข่าไม่ค่อยดี ผมว่ามันจำเป็นเลยแหละ เหตุผลอื่นๆอีก เช่น 10 เหตุผล ที่ควรใช้ไม้เท้าเดินป่า นี้ผมแปลมาจาก outdoorgearlab  ทั้งสิบมีดังนี้ครับ

1. ไม้เท้าเดินป่าใช้หลักการเดียวกับไม้สกี เป็นการใช้กำลังแขนช่วยเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ทั้งในทางราบและขึ้นเขา ทำให้เพิ่มความเร็วโดยเฉลี่ย

2. ลดแรงกระแทกบริเวณขา เข่า ข้อเท้าและเท้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลงเขา การศึกษาในปี 1999 The Journal of Sports Medicine พบว่า ไม้เท้าเดินป่าช่วยลดแรงที่กระแทกที่เข่าได้มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์

3. ไม้เท้าเดินป่าสามารถใช้เบี่ยง หรือปัด สิ่งที่เรารำคาญหรือกีดขวาง เช่นพืชมีหนาม หรือปัดใยแมงมุมในระหว่างทางเดิน  ให้เราเดินสบายขึ้น

4. การเดินโดยใช้ไม้เท้าเดินป่าช่วยให้เราสร้างและรักษาจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็ว โดยเฉพาะการเดินในพื้นที่ราบเรียบ ไม่มีการปีนป่าย

5. จุดสัมผัสสองจุดที่เพิ่มเข้ามา จะช่วยเพิ่มการยึดเกาะบนพื้นที่ลื่น เช่น โคลน หิมะ หรือเศษหินร่วนๆ

6. ไม้เท้าเดินป่าช่วยเรารักษา balance ทรงตัวในพื้นที่ที่มีอุปสรรค อย่างเช่นการข้ามน้ำ ที่มีรากไม้พาด หรือ สะพานลื่นๆ  การมี balance ช่วยให้เราก้าวไปได้ง่ายและรวดเร็ว

7. ไม้เท้าเดินป่าสามารถใช้หยั่งข้อมูล ที่เราไม่รู้จากการมองด้วยตา ใช้ไม้เท้าเพื่อรู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอ่งน้ำ โคลน หิมะ หรือทรายดูด (ความลึก ความแข็ง สิ่งกีดขวางในน้ำ ฯลฯ)

8.ไม้เท้าเดินป่า สามารถใช้ป้องกันตัวจากการโจมตีของสุนัข หมี หรือสัตว์ป่าอื่นๆ โดยเหวี่ยงไม้เท้าไปรอบๆเหนือหัว เพื่อให้เราดูตัวใหญ่ขึ้น หรือใช้โยนแบบหอก

9. ไม้เท้าเดินป่าช่วยแบ่งเบาภาระน้ำหนักที่เราแบก อย่างเช่น ถ้าเราแบกน้ำหนักมากๆ และเราต้องการพักสั้นๆ การพิงไปที่ไม้เท้าจะช่วยให้สบายขึ้น

10. ไม้เท้าเดินป่าสามารถใช้เป็นอะไรที่มากไปกว่าการเป็นแค่ไม้เท้า ช่วยลดน้ำหนักในการแบกเสาเต้นท์ (สำหรับอุปกรณ์ที่พักเช่น Tarp หรือเต้นท์แบบใช้ไม้เท้าแทนเสาเต้นท์ เมืองไทยยังไม่ค่อยเห็นมีขาย) ที่พักแบบนี้ช่วย save น้ำหนักได้เกือบ 1 กิโล (ไม่นับตัวไม้เท้าเอง) ไม้เท้าเดินป่ายังมีความแข็งแรงมากกว่าเสาเต้นท์ ดังนั้นยากที่จะหักเมื่อลมแรงๆ ทำให้ที่พักมีความปลอดภัยมากขึ้น  ไม้เท้าเดินป่ายังสามารถใช้เป็นเฝือกได้อีก


ข้อจำกัดของการใช้ไม้เท้าเดินป่าคือ ใช้พลังงานของร่างกายเพิ่มขึ้น (เราต้องใช้กำลังแขนเพิ่มขึ้นมา) มันสามารถเข้าไปขัดอยู่ในพุ่มไม้หรือติดกับซอกหิน มันลดฟังชั่นของมือเราในการจะไปทำอย่างอื่น มันไม่สามารถเก็บได้อย่างสะดวก และอาจมีผลต่อเส้นทางข้างหน้า (เก็บแล้วมันก็ยังยาว) นักปีนเขาบางคนบ่นเกี่ยวกับข้อศอกที่เจ็บจากการใช้ไม้เท้าเดินป่ามากเกินไป เช่นแบกน้ำหนักมากกว่า 30 กิโล ทุกวันในหนึ่งเดือนต่อครั้ง (เยอะไปไหม) อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดนี้สามารถแบ่งเบาหรือถือเป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างเช่น พลังงานที่ต้องใช้เพิ่มขึ้นก็ชดเชยด้วยการที่เพิ่มความเร็วได้และลดแรงตึงเครียดที่ขา นักปีนเขาหลายคนชอบไม้เท้าเดินป่าแบบไม่มีสายคล้องมือมากกว่า เพราะสะดวกในการเปลี่ยนไม้เท้าข้างใดข้างหนึ่งมาอีกข้าง เพื่อใช้มือสำหรับหยิบอาหารกินหรือถ่ายรูป และสามารถปล่อยมันได้รวดเร็วเมื่อเสียหลัก หรือต้องการใช้มือทำอะไรบางอย่าง

วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

รีวิวที่กรองน้ำพกพา Sawyer PointOne Squeez Water Filtration System



น้ำดื่มเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่การเดินป่าข้ามวัน เราไม่สามารถหอบน้ำดื่มจำนวนมากไปด้วยได้ เพราะมันหนัก ;) ส่วนมากจะไปหาน้ำกันดาบหน้า พวกลำธาร น้ำตก ฯลฯ แล้วจึงมีวิธีทำให้น้ำสะอาดพอที่จะดื่ม ไม่ว่าจะใช้วิธีต้ม, ใช้ยาเม็ดฆ่าเชื้อ หรือใช้อุปกรณ์กรองน้ำแบบพกพา ซึ่งในบทความนี้ ผมจะมาแนะนำอุปกรณ์กรองน้ำพกพา ที่ผมเพิ่งได้มาสดๆร้อนๆ ชื่อว่า Sawyer PointOne Squeez Water Filtration System ที่กรองน้ำตัวนี้ได้รับรางวัล  Backpacker Editors' Choice 2012 ด้วย มันมีอะไรบ้าง เรามาดูกันครับ

Sawyer Squeeze สเปค

ไส้กรอง Hollow Fiber ขนาด 0.1 ไมครอน
กรองแบคทีเรีย 99.99999% กรองโปรโตซัว 99.9999%
อายุไส้กรอง 1 ล้านแกลลอน!!
น้ำหนัก  85 กรัม ถุงน้ำ + ไส้กรอง

ผมซื้อมาแบบแถมถุงน้ำ 1L (sp129)  ในกล่องประกอบด้วย Filter, ถุงน้ำ 1 L (sp131 แถมถุงน้ำสามขนาด 0.7L, 1L, 2L), Syringe สำหรับล้าง Filter, แผ่น Instructions 

Sawyer Squeeze Water Filtration System

Sawyer Squeeze ออกแบบมาใช้งานโดยอาศัยแรงบีบถุงใส่น้ำที่ต้องการกรอง ให้เกิดแรงดันทำให้น้ำไหลผ่านตัว Filter ออกมาเป็นน้ำสะอาดดื่มได้ โดยสโลแกนของมันคือ No pumping, No chemicals, No waiting, No worries ใครขี้เกียจออกแรงของที่กรองแบบปั๊ม หรือกลัวเคมีในยาเม็ดฆ่าเชื้อ Sawyer Squeeze เป็นตัวเลือกเลยครับ เขาทำให้เล็กแต่ประสิทธิภาพดี คือสะอาด และ flow rate สูง แม้ราคาผมถือว่าไม่ถูก แต่มันยังถูกกว่าแบบปั๊มและแบบ Gravity มากกว่าเท่าตัว และถ้าคิดอายุการใช้งานเข้าไปด้วย ฝรั่งเขาคิดแล้วว่าตัวนี้ถูกสุด คือแค่ 0.002 cents ผมแปลงเป็นไทยเอง ก็ประมาณ 0.0006 บาท ต่อน้ำ 1 ลิตรเท่านั้น

ส่วนประกอบ

ถุงที่แถมมารุ่นก่อนๆ จากที่ดูรีวิวคนอื่น มีเสียงบ่นมากมายว่า รั่วง่าย แต่ตัวนี้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ 2013 Sawyer ทำใหม่เป็นพลาสติกหนาหนักกว่าเดิม ดูไม่น่าจะแตกหรือรั่วได้ง่ายๆ  ตัว Filter ขนาดเต็มกำมือ มีจุกวาล์วน้ำออกสีขาวแบบดึงเข้าออก สำหรับปิดเปิด สามารถหมุนถอดออกได้ แถมมีจุกครอบพลาสติกใสปิดอีกทีด้วย (จุกใสนี้ น่ากลัวจะหายได้ง่าย)  อีกด้านเป็นทางน้ำเข้า เกลียวสามารถต่อเข้ากับขวดน้ำทั่วไปได้ด้วย

ทดสอบ

ลองใส่น้ำเข้าถุง 1L พบว่าในน้ำนิ่งมันเข้ายากกว่าที่คิด เพราะว่าถุงที่ลีบแบน แถมปากยังเล็ก ผมเลยต้องเป่าลมเข้าถุงก่อน จากนั้นจึงค่อยให้น้ำไหลเข้าแทนอากาศ พอน้ำเต็มถุงถึงค่อยต่อเข้ากับ Filter แล้วบีบ พบว่า Flow Rate หรืออัตราการไหลของน้ำรวดเร็วน่าพอใจ (ตัวเลขที่เขาทดสอบ อยู่ที่ 1.7 ลิตรต่อนาที เร็วน้อยกว่าแบบ Gravity ที่เร็วที่สุด เพียง 0.05 นาที) ทีนี้ผมลองใช้ขวดพลาสติกเล็กใส่น้ำ ต่อเข้าไปบ้าง จากนั้นคว่ำลง ง่ะ!! น้ำไม่ออก!! ต้องออกแรงบีบกันหน่อย แต่อย่างไรก็กรองได้นิดเดียวไม่เต็มความจุขวด เพราะขวดพลาสติกบีบได้ไม่มาก ไม่พอให้เกิดแรงดันเมื่อน้ำเหลือน้อย สำหรับน้ำที่ใช้ทดลอง ผมเอาน้ำขังในแอ่ง เป็นน้ำใส แต่มีตะไคร้น้ำ มีตะกอนและมีกลิ่นเล็กน้อย  กรองแล้วลองดื่ม โอ้พระเจ้า รสชาติดี กลิ่นหายเกลี้ยง!! :)

สรุป

Sawyer Squeez มีขนาดเล็กพกพาสะดวกในการเดินป่า ท่องเที่ยวทั่วๆไป หรือเก็บไว้เป็น survival kit รองรับสถานการณ์ภัยพิบัติก็ได้ น้ำไหลเร็ว สามารถใช้กับขวดน้ำพลาสติกที่มีขนาดปากขวดทั่วไปได้ แต่ไว้เป็นทางเลือกดีกว่า ควรใช้กับถุงที่แถมมาหรือขวดน้ำชนิดพับได้จะดีกว่า สำหรับขนาดปากถุงที่เล็กตอนเติมน้ำถามว่ายากไหม ก็บอกว่าไม่ยาก แค่มันไม่สะดวกเหมือนกับปากถุงใหญ่ๆ เช่นแบบ Gravity แต่ด้วยขนาดและน้ำหนักของ Sawyer Squeeze  ผมว่ามันสะดวกคล่องตัวกว่าสำหรับการพกใช้คนเดียว หรือจำนวนคนที่ไม่มาก ไม่เกินสองคนกำลังดี ราคา Sawyer Squeez ตัวนี้ใน amazon 35$ หรือประมาณ 1100 บาท ไม่รวมส่งครับ

ถุง 1L + Filter เมื่อม้วนเก็บ

Update เพิ่มเติม

ปลายปี 2013 Sawyer จะออกกรองน้ำตัวใหม่ ชื่อ Sawyer Mini ซึ่งใช้งานร่วมกับถุงใส่น้ำแบบเดียวกับ Sawyer PointOne Sqeeze แต่มีขนาดเล็กและราคาถูกกว่า ส่วนประสิทธิภาพยังไม่เปิดเผยครับ